จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 840
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 7 มิถุนายน 2554
ความเป็นมา
ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย มีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 6 ล้านล้านบาท รัฐวิสาหกิจสามารถสร้างรายได้ปีละประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท และสามารถสร้างกำไรได้ประมาณ 2.3 แสนบ้านบาท นอกจากนั้น ยังมีบริษัทหรือหน่วยงานในเครือของรัฐวิสาหกิจและบริษัทหรือหน่วยงานในเครือของรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจอีกจำนวนหนึ่ง การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจและบริษัทหรือหน่วยงานในเครือข่ายของรัฐวิสาหกิจดังกล่าว จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทย ดังนั้น การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ดี ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อประเทศ ในขณะเดียวกันหากการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างได้เช่นกัน
การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานหรือกระทรวงต้นสังกัดและการบริหารรัฐวิสาหกิจเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ซึ่งการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ดีนั้น หมายถึง การกำหนดหลักการ กติกา และกลไกที่มีระบบการกำกับดูแลที่ดี มีความเหมาะสม (Good governance) ซึ่งรวมถึงการจัดโครงสร้างระบบการบริหารงาน ขั้นตอนกระบวนการทำงาน มาตรฐานการบริหารงานของภาครัฐ ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ การบริหารจัดการที่มีศักยภาพ ประสิทธิภาพ คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีข้าราชการดำรงตำแหน่งระดับสูงหลายคนดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจเกินกว่า 3 แห่ง เป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2523 และขัดต่อพระราชบัญญัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีผลำให้ประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งงานในหน้าที่หลักและหน้าที่กรรมการของรัฐวิสาหกิจลดลง และอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่กรรมการในรัฐวิสาหกิจอีกด้วย และกรณีการกำหนดค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ มีรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ได้ออกข้อบังคับเกี่ยวกับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการที่น่าจะเป็นการบิดผันในการใช้อำนาจ ซึ่งอาจมีผลเสียหรือขาดความชอบธรรมในการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ จึงเห็นสมควรเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนี้
ข้อเสนอนะ
เพื่อให้การดำเนินกิจการของรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และป้องกันการเข้าไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรดำเนินการเสนอให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 (8) ดังนี้
มาตรการระยะสั้น
1. ห้ามผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ผู้ใดเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ และหรืvนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่า 3 แห่ง ทั้งนี้ ให้นับรวมการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งกรรมการด้วย
ในกรณีที่ผู้ใดดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเกินกว่า 3 แห่ง ให้ผู้นั้นลาออกจากตำแหน่งกรรมการดังกล่าว หรือให้ผู้มีอำนาจสั่งให้ออกจากตำแหน่งกรรมการ เพื่อให้เหลือการเป็นกรรรมการในรัฐวิสาหกิจและหรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นไม่เกิน 3 แห่ง
2. ห้ามผู้มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการสำนักหรือเทียบเท่าขึ้นไปในส่วนราชการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย รองหรือผู้บริหารสูงสุดในรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับ ทั้งด้านนโยบายและด้านการปฏิบัติ (Regulator) เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ดำเนินการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและมีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรรวมอยู่ด้วย ซึ่งอยู่ในการควบคุม กำกับ หรือดูแล
3. ห้ามผู้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวดที่ 11 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินคดี เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจ และหรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้น
4. ให้กระทรวงการคลังมีการศึกษาทบทวนและปรับปรุงกระบวนการ วิธีการสรรหา คัดเลือก และจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ หรือกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้มีความสมบูรณ์ รัดกุม โปร่งใส และให้เหมาะสม เพื่อให้ได้บัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตรงตามความเชี่ยวชาญในด้านที่กำหนดไว้อย่างแท้จริงตามสภาวการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
5. ให้กำหนดเป็นหลักการในการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติราชการ โดยให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องถือปฏิบัติว่า ห้ามกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับให้สามารถเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้แก่คู่สมรสหรือผู้ติดตามที่มิได้มีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจที่ร่วมเดินทางไปกับผู้ปฏิบัติงาน หากรัฐวิสาหกิจใดได้กำหนดระเบียบ หรือข้อบังคับ ให้สามารถเบิกจ่ายได้ไว้แล้วก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติก็ให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการยกเลิก หรือแก้ไขปรับปรุงระเบียบ หรือข้อบังคับ ให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าวข้างต้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ รวมถึงห้ามรัฐวิสาหกิจทุกแห่งกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับอื่น ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่คู่สมรสหรือบุคคลใด ๆ ที่มิได้เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจนั้นด้วย
มาตรการระยะยาว
1. ให้ศึกษา ทบทวน วิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานทั้งหมด ในฐานะผู้คุมกฎ (Regulator) และผู้ปฏิบัติ (Operator) เพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งและแยกอำนาจหน้าที่ในด้านการคุมกฎ (Regulator) และผู้ปฏิบัติ (Operator) ออกจากกันให้ชัดเจนในอนาคต
2. กำหนดให้มีกลไกทางสังคมที่ชัดเจนในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีการดำเนินการเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
3. สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ในประเด็นต่าง ๆ และกำหนดแนวทางในการดำเนินการกรณีการกระทำผิดจรรยาบรรณไว้ให้ถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
3.1 แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดเพิ่มเติมว่า “บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและมีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรรวมอยู่ด้วย ต้องไม่เป็นผู้บริหารหรือข้าราชการในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุม กำกับ ดูแล ทั้งในด้านนโยบายและด้านการปฏิบัติ หรือกำกับดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น หรือต้องพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารหรือข้าราชการในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุม กำกับ ดูแล ทั้งในด้านนโยบายและด้านการปฏิบัติ หรือกำกับดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
3.2 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 8 วรรคสอง ที่กำหนดว่า “กรรมการรัฐวิสาหกิจที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่งตามกฎหมายหรือพระราชกฤษฎีกาให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้” เป็น “กรรมการรัฐวิสาหกิจที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่งตามกฎหมายหรือพระราชกฤษฎีกาให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน”
3.3 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 12/1 วรรคแรก ที่กำหนดว่า “ในการแต่งตั้งกรรมการอื่นที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจใด ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งจากบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ของจำนวนกรรมการอื่นของรัฐวิสาหกิจนั้น” เป็น “ในการแต่งตั้งกรรมการอื่นที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจแห่งใด ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งจากบุคคลในบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานั้น ๆ ที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้นไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการอื่นของรัฐวิสาหกิจนั้น และห้ามผู้มีอำนาจแต่งตั้งสั่งให้ผู้นั้นออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ เว้นแต่การพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 8 (1) (2) (3) หรือตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายสำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น”
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 ดังนี้
1. รับทราบมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ในคราวประชุมครั้งที่ 281-28/2554 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2554 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือบุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ดังนี้
1.1 กรณีการห้ามผู้มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการสำนักหรือเทียบเท่าขึ้นไปในส่วนราชการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย รองหรือผู้บริหารสูงสุดในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับทั้งด้านนโยบายและด้านการปฏิบัติ (Regulator) เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและมีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรรวมอยู่ด้วย ซึ่งอยู่ในการควบคุม กำกับ หรือดูแลนั้น เห็นควรให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแลรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้นซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้พิจารณากำหนดรายชื่อรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้นซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเหล่านั้น
1.2 กรณีการห้ามผู้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวดที่ 11 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินคดีเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจ และหรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นนั้น เนื่องจากการเสนอมาตรการในข้อนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเป็นการเสนอในหลักการ ส่วนการพิจารณาว่าจะสมควรหรือไม่เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาความเหมาะสมและตัดสินใจเอง การที่จะให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประสานรายละเอียดร่วมกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องน่าจะเป็นการไม่เหมาะสม
2. ให้ทุกกระทรวงที่มีหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้นรับมติคณะกรรมการฯ ตามข้อ 1 ไปพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดว่ามีรัฐวิสาหกิจใดบ้างที่จะเข้าข่ายและสมควรดำเนินการตามมาตรการป้องกันการทุจริตของรัฐวิสาหกิจตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ กรณีการห้ามผู้มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการสำนักหรือเทียบเท่าขึ้นไปในส่วนราชการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย รองหรือผู้บริหารสูงสุดในรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับ ทั้งด้านนโยบายและด้านการปฏิบัติ (Regulator) เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสาธารณูปโภค และมีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรรวมอยู่ด้วย ซึ่งอยู่ในการควบคุม กำกับ หรือดูแล และกรณีการห้ามผู้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวดที่ 11 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินคดีเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจและหรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงความสอดคล้องกับข้อกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กฎหมายเกี่ยวกับการพลังงาน หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นต้น แล้วให้จัดทำผลการพิจารณาส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อรวบรวมนำเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณาต่อไป