Contrast
banner_default_3.jpg

ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษา การจัดงานประเพณี

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 17

16/07/2568

ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดงาน
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษา การจัดงานประเพณี

 

ที่มาและความสำคัญ

   องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ และอำนาจในการดูแลจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงการจัดหารายได้เอง ซึ่งเป็นไปตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยลักษณะการจัดงานโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ เช่น งานประเพณีตามเทศกาล วันสำคัญของชาติ วันสำคัญทางประวัติศาสตร์ งานประเพณี เฉพาะในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือวันอื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นต้น ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับการจัดงานไว้ในเทศบัญญัติ/ข้อบัญญัติ และเบิกค่าใช้จ่ายในการจัดงานตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดงานการจัดกิจกรรมสาธารณะ การส่งเสริมกีฬาและการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564

   สำหรับลักษณะการจัดงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดเองหรือจัดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น หรือจัดร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่น โดยการจัดงานงานใหญ่ ๆ อาจมีความจำเป็นต้องให้เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากกว่าการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดเอง เช่น การจัดงานเทศกาลประจำปี หรือการจัดงานประเพณี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจ้างเอกชนตกแต่งและจัดสถานที่ โฆษณาประชาสัมพันธ์งาน จัดมหรสพ และบริการรถสุขา เป็นต้น

   ทั้งนี้ กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. ได้พบการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการจัดงานเทศกาลประจำปี งานเรือพระ งานฉลองรัฐธรรมนูญ หรืองานกาชาดของจังหวัด งานบุญสารทเดือนสิบ โดยผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้จัดงาน จะเข้ามาใช้พื้นที่ของส่วนราชการในการจัดงาน โดยกระบวนการคัดเลือกเอกชนให้เข้ามาบริหารจัดการอาจมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางรายหรืออาจผูกขาดผู้ประกอบการรายเดิม เนื่องจากหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการประมูลงาน โดยเน้นการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ประกอบกับ พบปัญหาจากการบริหารจัดการรายได้จากการจัดงาน โดยผู้รับจัดงานได้รับเอกสิทธิ์ในการบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงเก็บค่าเช่าพื้นที่/บู๊ทขายสินค้า ตลอดจนมีการเรียกเก็บค่าที่จอดรถ และค่าบริการในการใช้ห้องสุขาจากประชาชนที่มาเที่ยวในงาน รวมถึงกลุ่มร้านค้าที่อยู่ในท้องถิ่นจะต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ขายสินค้าในราคาสูงกว่ากลุ่มร้านค้าคาราวานสินค้าที่มากับผู้จัดงานหรือผู้ประมูลงาน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรั่วไหล เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้จัดเก็บค่าเช่าพื้นที่จากผู้ประกอบการแต่อย่างใด และอาจเกิดความเสี่ยงต่อการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อแลกกับการเป็นผู้ได้รับคัดเลือกจัดงานดังกล่าว

 

ข้อเสนอแนะ

           เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ กอปรกับอาศัยอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษา การจัดงานประเพณี เพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้

 

1. ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างโดยมิชอบ
1.1) กระทรวงมหาดไทย ควรกำกับดูแลและกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ. 2560 และระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้รัฐสูญเสียงบประมาณเกินความจำเป็น และใช้จ่ายงบประมาณไปโดยไม่เหมาะสม
1.2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรดำเนินการจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ในการเลือกผู้รับจ้าง โดยเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคา คำนึงถึงประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ วัตถุประสงค์ของการจัดงานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการจัดงานที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีสัดส่วนของกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลพอสมควร และมีรายได้เกิดขึ้นจากการจัดงาน โดยอย่างน้อยขอบเขตของงาน (TOR) จะต้องมีสาระสำคัญตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.4/ว 159 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2566 เช่น ความเป็นมา วัตถุประสงค์ คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ และรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะดำเนินการจัดซื้อ หรือขอบเขตของงานที่จะดำเนินการจัดจ้าง และเอกสารแนบท้ายอื่น ๆ เป็นต้น เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจมีความรัดกุมมากขึ้นและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
1.3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลการจัดงานและการใช้งบประมาณ หลังจากเสร็จสิ้นการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน เช่น สัญญาการปรับแก้ไขสัญญา ฎีกาเบิกจ่ายเงิน ปฏิทินการจัดงาน สถานที่ที่ใช้จัดงาน ช่วงระยะเวลาการจัดงาน รายได้ และค่าใช้จ่ายในการจัดงาน เป็นต้น โดยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน หรือปิดประกาศ ณ สถานที่ตั้ง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้ง เปิดช่องทางรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดงานและการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อป้องกันการทุจริตและให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างได้

 

2. ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการรายได้จากการจัดงาน
2.1) กระทรวงมหาดไทย ควรวางแนวทางตรวจสอบภายในประจำปี โดยกำหนดให้มีแผนการตรวจสอบการดำเนินโครงการ/กิจกรรมและวิธีปฏิบัติด้านการเงินการคลังต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน การจัดกิจกรรมสาธารณะ การส่งเสริมกีฬา และการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกปี โดยเฉพาะการจัดงานที่มีการจัดเก็บรายได้ เพื่อป้องกันมิให้หน่วยงานของรัฐเสียโอกาสในการจัดเก็บรายได้และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2.2) กระทรวงมหาดไทย ควรจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติในการจัดงานตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการจัดงาน การจัดกิจกรรมสาธารณะ การส่งเสริมกีฬา และการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564 โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการจัดงานร่วมกับหน่วยงานอื่นให้ชัดเจน เช่น จัดทำสัญญาหรือข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร แบ่งพื้นที่ให้ร้านค้าชุมชน หรือสินค้า OTOP เข้ามาขายสินค้าภายในงาน หรือกำหนดเงื่อนไขในการกำหนดอัตราค่าเช่ามิให้เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ขายสินค้าในท้องถิ่นเกินควร หรือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาหน่วยงานที่จะเข้ามาจัดงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น และเผยแพร่คู่มือแนวทางปฏิบัติการจัดงานตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการจัดงาน การจัดกิจกรรมสาธารณะ การส่งเสริมกีฬาและการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564 รวมถึงวิธีปฏิบัติในการจัดงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานด้วย เพื่อป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากการจัดงาน การจัดกิจกรรมสาธารณะ การส่งเสริมกีฬา และการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรกำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นสำคัญ เช่น การจัดงานประเพณี หรืองานเทศกาล กิจกรรมที่จะดำเนินการต้องแสดงถึงการสืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม มิใช่กิจกรรมที่มุ่งแสวงหากำไรเป็นหลักสำคัญ ซึ่งควรเป็นลักษณะของการให้บริการประชาชนมากกว่าการจัดเก็บรายได้ เป็นต้น เพื่อให้การจัดงานไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดงานอย่างแท้จริง

 

3. ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์จัดงานโดยไม่ขออนุญาตให้ถูกต้อง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจัดเตรียมความพร้อมในการจัดงานล่วงหน้า โดยสำรวจพื้นที่ที่จะใช้จัดงานว่าอยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการใด และจัดทำแผนที่แสดงที่ตั้งบริเวณที่ดินที่จะใช้ประโยชน์ และแผนงานในการบริหารจัดการพื้นที่ที่จะขออนุญาตใช้ประโยชน์ก่อนจะดำเนินการจัดงานและขออนุญาตใช้พื้นที่ดังกล่าว ให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการใช้พื้นที่ทับซ้อนก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน หรือระหว่างผู้จัดงานกับชุมชนโดยรอบ และใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์อันส่งผลให้หน่วยงานของรัฐสูญเสียโอกาสในการจัดเก็บรายได้ และประชาชนขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์

 

ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนหรือแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอแนะฯ เสนอคณะรัฐมนตรี ประกอบการพิจารณา โดยให้กระทรวงมหาดไทย รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะฯ ดังกล่าว ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปี หรือตามระยะเวลาที่เห็นสมควร

Related