Contrast
banner_default_3.jpg

ธรรมะในด้านเศรษฐกิจ

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 259

18/12/2563

ธรรมะในด้านเศรษฐกิจ*

Dharma in Economic Affairs[1]

         

                   ธรรมะเป็นคำคู่กับศีล คำว่า “ศีล” หมายถึงการระงับ ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น   ส่วนความหมายของคำว่า “ธรรมะ” คือการช่วยส่งเสริมให้สถานะดีขึ้น เพื่อความเจริญของเอกชนมหาชน และส่วนประกอบที่สำคัญแห่งธรรมะก็คือความยุติธรรม

                   การประพฤติตนผิดหลักธรรมะในด้านเศรษฐกิจนั้น มีได้หลายกรณี เช่น

  1. เจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนใช้อำนาจและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาเป็นประโยชน์ส่วนตัว ไม่

ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรงเพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกัน กลับมีใจลำเอียงช่วยเหลือแต่เฉพาะผู้ที่ให้สินบน ที่ว่าผิดหลักธรรมเพราะ 1) ราษฎรส่วนใหญ่ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริตก็เกิดความย่อท้อที่จะ ทำดีต่อไปคิดแก่งแย่งเบียดเบียนกัน 2) การที่กสิกรไทยทั้งหลายสามารถทำการเพาะปลูกได้ผลดี เท่ากับเพิ่มปริมาณการผลิตให้มากขึ้น

  1. เจ้าหน้าที่ที่มีผลประโยชน์ส่วนตัวในหน้าที่การงานของตนขัดกับประโยชน์ของส่วนรวม ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติผิดหลักธรรมะในด้านเศรษฐกิจ
  2. ข้าราชการแม้ว่าจะไม่ทุจริต แต่ไม่ทำงานให้รวดเร็วเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนก็ขัดขวางความเจริญในทางเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะส่วนราชการที่จำเป็นที่ต้องติดต่อกับประชาชนโดยตรง เช่น อำเภอ ถ้าทำงานล้าช้า นอกจากงานของรัฐจะไม่ก้าวหน้าไปแล้ว ยังไม่เปิดโอกาสให้ราษฎรได้ทำงานของตนได้ทันเวลาด้วย
  3. นโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งช่วยเหลือหมู่ชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะนั้น ถ้าทำให้คนกลุ่มใหญ่เดือดร้อนแล้ว ถือว่าผิดหลักธรรมะในด้านเศรษฐกิจ เพราะเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ได้ให้ความยุติธรรมต่อสังคม การให้เงินเฟ้อถึงขนาดการเก็บภาษีอากรไม่ทั่วถึง
  4. ราษฎรที่สมคบกับข้าราชการทำการเอาเปรียบส่วนรวม ถือว่าทำผิดธรรมะในทางเศรษฐกิจ
  5. การหลบเลี่ยงการเสียภาษีของราษฎรก็ผิดหลักธรรมะ เพราะรัฐบาลเก็บเงินได้น้อยกว่าที่ควรจะเก็บได้
  6. การกักตุนสินค้าในยามขาดแคลนเพื่อหวังกำไรการค้าในตลาดมืด การปฏิบัติตนให้เป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติแห่งกฎหมาย ถือเป็นการปฏิบัติผิดหลักธรรมะทั้งสิ้น เพราะก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและกับส่วนรวม
  7. การที่ราษฎรแต่ละคนไม่มีอาชีพหรือไม่พยายามทำงานเพื่อเลี้ยงชีวิตของตนในทางที่ชอบไม่เข้าใจหน้าที่ และไม่รู้จักประมาณและความพอเพียง เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีการศึกษาอบรมที่ดีเท่ากับ ไม่ช่วยเหลือให้เศรษฐกิจของชาติก้าวหน้าไป เหล่านี้ถือว่าปฏิบัติตนไม่ถูกหลักธรรมะในด้านเศรษฐกิจ
  8. การที่มีบุคคลกลุ่มน้อยร่ำรวยขึ้นอย่างมาก เป็นการผิดหลักธรรมะ เพราะในขณะที่กลุ่มคนมั่งมีมาก ๆ มีจำนวนคนน้อย กลุ่มคนจนก็ขยายจำนวนออกไป เกิดปัญหาในสังคม มีการแบ่งแยกชั้นของคนโดยไม่ควร และการแบ่งแยกกันในลักษณะนี้เป็นผลเสียทั้งในด้านจิตใจและการครองชีพของประชาชนเป็นปัญหาหนักสำหรับรัฐบาลในการปกครองประเทศ นับว่ากระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศทุกทาง
  9. บุคคลที่มีความสามารถในกิจการค้าหรือทำงานใดก็ตามทำให้มีรายได้ส่วนตัวมากมายหรือมีทรัพย์สมบัติเป็นมรดกตกทอดมา แม้ว่าจะได้รับมาโดยสุจริต ถ้าไม่ได้ทำให้ทรัพย์นั้นเกิดเป็นผลประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว ถือว่าไม่ถูกหลักธรรมะในทางเศรษฐกิจ

                   ฉะนั้น การถือหลัก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั่นก็นับว่าเป็นการยุติธรรม และควรจะใช้ได้ในทุกกรณี คนที่สามารถหารายได้หรือมีทรัพย์มรดกตกทอดมานั้น ถ้าไม่ได้ทำทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์ก็ไม่เรียกว่าทำดี และเมื่อเขาทำไม่ดีทรัพย์นั้นก็จะหมดไป อย่างไรก็ดี ข้อที่น่าคิดก็คือ การที่มีบุคคลหมู่น้อยร่ำรวยมาก ๆ นั้นไม่สมควร แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ทุกคนมีรายได้หรือทรัพย์สินส่วนตัวในระดับที่ใกล้เคียงกัน ถ้าเราจะเพ่งเล็งถึงแต่พวกที่มีรายได้สูงฝ่ายเดียว ก็จะทำให้บุคคลเหล่านั้นเกิดย่อท้อที่จะทำงานให้ได้ผลดีมาก ๆ ขึ้นไป

                   พิจารณาตามหลักธรรมะในด้านเศรษฐกิจแล้วจะเห็นว่า ถ้าจะทำให้ถูกหลักธรรมะ คือต้องช่วยสร้างความเจริญให้มีขึ้นทุกทางและต้องมีความยุติธรรมในสังคมนั้น ๆ ฉะนั้น ถ้าจะดึงเอารายได้ของคนที่มั่งมีมาโดยพลการก็ถือว่าไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่ผู้ที่ได้ทำงานมาแต่แรกเริ่ม เป็นการกระทบกระเทือนต่อจิตใจของกลุ่มชน ซึ่งแม้จะเป็นหมู่น้อยก็ถือว่าบุคคลเหล่านั้นได้รับการปฏิบัติที่ไม่ถูกหลักธรรมะเหมือนกัน

         วิธีการโดยละม่อมก็มีอยู่ คือ เก็บภาษีจากทุก ๆ คนตามรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ โดยเฉพาะภาษีจากมรดก แม้จะจัดเก็บในอัตราที่สูงก็อาจจะไม่กระทบกระเทือนต่อทายาทผู้รับมรดกมากนัก ส่วนการเก็บภาษีจากรายได้ ควรเพิ่มอัตราขึ้นตามปริมาณเงินได้ ผู้ที่มีรายได้น้อยก็เสีย ในอัตราที่ต่ำแต่ผู้ที่มีรายได้มากก็จะต้องเสียสละเสียภาษีในอัตราสูง แต่ในเรื่องนี้ต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจในระหว่างหมู่ชนด้วยกันจึงจะได้ผล ถ้าราษฎรพยายามหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้กับรัฐบาลหรือไม่ทำการอาชีพ คือ ไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมะมาแต่ต้น ก็เป็นปัญหาที่ไม่อาจจะแก้กันให้ตกได้

         สรุปรวมความว่า ในการรักษาระดับรายได้ของคนให้อยู่ใกล้เคียงกัน หรือให้มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยนั้น ควรพิจารณาถึงภาษีมรดกและภาษีเงินได้เป็นส่วนสำคัญ และประการสุดท้ายทุกคนจะต้องมีอาชีพที่สุจริต ไม่ถ่วงความเจริญของส่วนรวมด้วยการไม่ทำงานหรือปฏิบัติผิดหลักธรรมะในด้านเศรษฐกิจดังได้กล่าวมาแล้ว การมีการศึกษาอบรมในทางที่ดี เข้าใจนโยบายของรัฐ เข้าใจถึงเสรีภาพของตนในทางที่ถูก มีความหวังที่จะก้าวหน้าให้เท่าเทียมกันโดยไม่เป็นภัยต่อสังคม ทำงานด้วยความรู้ความสามารถ  ที่มีอยู่ย่อมจะเป็นผลดีต่อส่วนรวม และจะทำให้ปัญหาเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ ไม่ยากเกินกว่าที่บุคคลทุกคน     จะช่วยกันแก้ไข

 

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2557 : เขียนบทความโดย ปกป้อง จันวิทย์)

  สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y72/ton1_1.pdf

Related