Contrast
banner_default_3.jpg

แนวทางการประยุกต์ใช้หลักการตลาดภาครัฐในภารกิจ การป้องกันการทุจริตของประเทศไทย

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 624

20/12/2563

แนวทางการประยุกต์ใช้หลักการตลาดภาครัฐในภารกิจ

การป้องกันการทุจริตของประเทศไทย[1]

The Application of Public Sector Marketing in Thailand’s

Corruption Prevention Mission

          การทุจริตซึ่งเป็นสิ่งที่มีพลวัตก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ภารกิจการป้องกันการทุจริตก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ การที่จะทำให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์หรือในทางการตลาดใช้คำว่าได้เปรียบในตลาดการแข่งขันนั้น จะต้องมีความเป็นเลิศในด้านการปฏิบัติการ คือทุก ๆ องค์ประกอบต้องเชื่อมโยงถึงกัน มีความร่วมมือกันอย่างดี ต้องตระหนักในภารกิจ ที่ว่าทุกคนมีภารกิจที่สำคัญที่จะสร้างความแตกต่างเพื่อให้เหนือคู่แข่ง (ซึ่งในที่นี้ก็คือ ปัญหาการทุจริต) และเน้นที่นวัตกรรม (Focus on Innovation) ซึ่งก็คือหนทางที่ดีที่สุดในการเอาชนะในทุก ๆ รูปแบบ การใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือสร้างนวัตกรรมในกรอบของระบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์หลักการตลาดมาใช้ในการป้องกันการทุจริตนั้น มีข้อจำกัดที่ควรคำนึงหลายประการ โดยความเชื่อของคนส่วนใหญ่มักมองว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ไร้โครงสร้างและไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือแบบแผนใด ๆ อาจไม่เป็นความจริงเสมอไป มีองค์ความรู้มากมายในปัจจุบันที่พบว่าเราสามารถสร้างนวัตกรรมได้ดีกว่าและรวดเร็วกว่าเดิมเมื่อคิดภายในกรอบโดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “แม่แบบ (template)” หรือเรียกว่าเป็น “วิธีการคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ (Systematic Inventive Thinking) ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ให้กับองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก โดยใช้เทคนิคการลบออก (Subtraction) การแยกส่วน (Division) การเพิ่มจำนวน (Multiplication) การรวมหน้าที่ (Task Unification) และการเชื่อมโยง (Attribute Dependency) โดยเริ่มจากการวิเคราะห์หาตัวแปรต่าง ๆ ใน “โลกปิด (Closed World)” ให้ครบถ้วนและใช้เทคนิคดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยคำนึงถึงทางออกก่อนแล้วค่อยไล่เรียงกลับไปยังปัญหา การใช้เทคนิคดังกล่าวสามารถนำมาสร้างนวัตกรรมที่เห็นเชิงประจักษ์อย่างรูปของสินค้าและบริการ รวมไปถึงสามารถสร้างนวัตกรรมในรูปแบบของกระบวนงานได้อีกด้วย

เทคนิคการสร้างนวัตกรรมรวมถึงเทคนิคทางการตลาดต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือผู้ที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการตลาดที่ยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งเปิดโอกาสให้สามารถประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวในภารกิจการป้องกันการทุจริตขององค์กร หลักการตลาดสามารถช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถอยู่ได้ในโลกซึ่งมีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน เช่นกัน หลักการตลาดย่อมสามารถเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐบรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในยุคโลกาภิวัตน์ได้ฉันนั้น นอกเหนือจากใช้เครื่องมือทางกฎหมายหรือหลักการบริหารภาครัฐที่ใช้กันแต่เดิม การตอบสนองต่อความท้าทายของเทคโนโลยีใหม่ สภาพสังคมแบบใหม่ และความต้องการผลงานที่ดีขึ้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่พยายามปรับส่วนประกอบต่าง ๆ เพื่อให้ภาพรวมผลงานดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงกระบวนการที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงานเพื่อให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่คนในองค์กรจะต้องมีการเปิดรับแนวทางใหม่ ๆ การปรับรูปแบบความสัมพันธ์ต่าง ๆ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานควรมีการพัฒนาตนเอง ทั้งทางด้านหลักการตลาดและด้านอื่น ๆ ซึ่งมิได้หยุดอยู่กับที่หากแต่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะได้สามารถนำมาพัฒนางานด้านการป้องกันการทุจริตที่ตอบโจทย์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (1 กรกฎาคม 2560 : เขียนบทความโดย ณัฐปกรณ์  ประเสริฐสุข)

สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่  https://www.nacc.go.th/download/sakdinan_khu/y102/ton1_4.pdf

Related