Contrast
1ddf39021731fe1b15f27011029f136b.jpg

ป.ป.ช.พังงา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและเร่งขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาระดับพื้นที่ของสถานศึกษาในจังหวัดพังงา

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพังงา
จำนวนผู้เข้าชม: 230

18/12/2566
         วันที่ 18 ธันวาคม 2566 นางสาวศุภาลักษณ์ จิรักษา ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพังงา เป็นประธานในการเปิดโครงการพัฒนาหลักสูตรและสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา กิจกรรมที่ 1 การประชุมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาระดับพื้นที่ ณ ศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา สพป.พังงา (โรงเรียนบ้านปริงฯ) อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
          โดยการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้แก่สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดพังงา และระดมความคิดเห็นในการหาแนวทางเพื่อพัฒนาและสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ซึ่งในการประชุมมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาจากสถานศึกษาในสังกัด สพป.พังงา สพม.พงภกรน ศึกษาธิการจังหวัดพังงา และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพังงา จำนวนรวมทั้งสิ้น ๙๐ คน
           จากการประชุมบุคลากรทางการศึกษาผู้มีประสบการณ์ในการสอนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้หลักสูตร พบว่า
           1. การบูรณาการหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาร่วมกับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ครูผู้สอนต้องเปรียบเทียบวัตถุประสงค์ของวิชาสังคมให้ตรงกับชุดวิชาหลักสูตรต้านทุจริต แต่หากเป็นการเปิดรายวิชาเพิ่มเติม ครูผู้สอนสามารถนำชุดวิชาที่มีสาระการเรียนการสอนครบถ้วนไปใช้สอนได้เลย แต่จะติดขัดตรงที่ตารางการเรียนการสอนที่ผ่านมาจะเต็มไม่สามารถเปิดรายวิชาเพิ่มเติมได้อีก
            2. ในส่วนของโรงเรียนที่เป็นระดับประถมศึกษาจะเป็นการบูรณาการหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาร่วมกับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร และบูรณาการกับวิถีชีวิตในโรงเรียน เป็นส่วนใหญ่
            3. ในส่วนของโรงเรียนที่เป็นระดับมัธยมศึกษา จะเป็นการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร จัดในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และบูรณการกับวิถีชีวิตในโรงเรียน ซึ่งการเปิดรายวิชาเพิ่มเติมนั้น ในปีการศึกษา พ.ศ. 2566 ยังไม่สามารถดำเนินการได้
           จากนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมได้ระดมความคิดเห็นการหาแนวทางในการนำหลักสูตรต้านทุจริตไปเปิดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในสถานศึกษา ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งในการปลูกฝังวิธีคิด ปลุกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต โดยกำหนดให้สถานศึกษานำหลักสูตรไปเิดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมร้อยละ 50 ของสถานศึกษาที่กำหนด โดยมีข้อเสนอและแนวทาง ดังนี้
           1. ให้มีการกำหนดนโยบายเป็นการสั่งการจากกระทรวงศึกษาธิการให้สถานศึกษานำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปเปิดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมชือวิชา "การป้องกันการทุจริต" 
           2. มีการขับเคลื่อนหลักสูตรในระดับพื้นที่โดยมีการออกนิเทศก์ร่วมระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อรับทราบผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ
           3. โรงเรียนที่มีตารางวิชาเต็มหรือเน้นการเรียนการสอนเป็นแบบเฉพาะให้มีการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาโดยการให้นักเรียนเข้าเรียนนอกเวลาผ่านแพลตฟอร์มหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา
          4. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจะสนับสนุนให้มีการประกวดการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนมีการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และเป็นรางวัล/ขวัญกำลังใจให้แก่สถานศึกษา
         จากนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพังงาได้นำผลจาการมีส่วนร่วมทั้ง 4 ข้อ มาวางแผนในการพัฒนาและขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตในพื้นที่โดยหารือแนวทางดังกล่าวไปยังสำนักต้านทุจริตศึกษา (สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง) ต่อไป

Related