Contrast
157fe07f208f0e1dc28b3478c4169264.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ
จำนวนผู้เข้าชม: 193

03/03/2567

พบกับ Q&A ประเด็นคำถาม และข้อมูลคำตอบ กันอีกแล้วนะครับ โดยในวันนี้เป็นเรื่องราวของกรณีร๊ฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพ้นตำแหน่งไม่ถึงสองปีได้รับเชิญให้เข้าเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

Q : กรณีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ถึงสองปี ได้รับเชิญให้เข้าเป็นกรรมการ บริษัทเวชการแห่งหนึ่ง ซึ่งมีบริษัทลูกที่บริษัทจัดตั้งขึ้นคือ บริษัทประกันสุขภาพ และบริษัทนายหน้าประกันภัย จะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และข้อห้ามอื่นของสำนักงาน ป.ป..หรือไม่??

A : (1) การดำเนินการประกอบธุรกิจของ บริษัทประกันสุขภาพ นั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยตรงจึงมีอำนาจควบคุม กำกับ ดูแล การดำเนินงานของธุรกิจเอกชนเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต การที่ท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเข้าไปเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้างในบริษัทประกันสุขภาพ ด้วย ย่อมมีส่วนได้เสียในกิจการของบริษัทประกันสุขภาพซึ่งรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุมหรือตรวจสอบ โดยสภาพของผลประโยชน์ทางธุรกิจของ บริษัทประกันสุขภาพ อาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีจึงต้องห้ามตามมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

(2) กรณีการเข้าเป็นกรรมการบริษัทเวชการแห่งหนึ่ง และบริษัทนายหน้าประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเวชการ นั้น บริษัทเวชการมีหน้าที่เสียภาษีต่อกรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน้าที่โดยทั่วไปของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ใช้บังคับเฉพาะกับการประกอบธุรกิจในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรตามกฎหมาย มิได้ขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกอบกับในการยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะต้องยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการไว้ และเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงมิได้เป็นนายทะเบียนตามกฎหมายที่จะมีอำนาจหรือหน้าที่ในการรับหรือไม่รับจดทะเบียนดังกล่าว การปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของท่าน จึงไม่มีสภาพแห่งผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ขัดหรือแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 126 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ การห้ามเจ้าพนักงานของรัฐดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จำต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำประกอบด้วยว่ามีสภาพแห่งการกระทำเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ด้วยเพื่อมีให้เกิดการลิดรอนสิทธิในการประกอบอาชีพของเจ้าหน้าที่รัฐภายหลังพ้นจากตำแหน่ง แม้จะปรากฎข้อเท็จจริงว่าท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงระยะเวลาอันสั้น อาจยังไม่ทราบนโยบายที่ชัดเจน กรณีดังกล่าวถือเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ของการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณีไป ดังนั้น กรณีที่ท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งพันจากตำแหน่งไม่เกินสองปี เข้าไปเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาในบริษัทเวชการแห่งหนึ่งและบริษัทนายหน้าประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเวชการ จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 126 (4) และมาตรา 127 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

Related