Contrast
5dad2a9b7486b4a1671780ae41e350ac.jpg

เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต "กรณีอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าจ้างโครงการก่อสร้างลานกีฬาเอนกประสงค์ ทั้งที่ยังก่อสร้าง ไม่แล้วเสร็จ และไม่มีการตรวจรับ"

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสตูล
จำนวนผู้เข้าชม: 114

24/10/2567
เกร็ดความรู้...สู้ทุจริต
วันนี้พบกับกรณีตัวอย่างสุดท้ายเกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าจ้างทั้งที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและไม่มีการตรวจรับ ซึ่งเนื้อจะเป็นอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ
"กรณีอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าจ้างโครงการก่อสร้างลานกีฬาเอนกประสงค์ ทั้งที่ยังก่อสร้าง
ไม่แล้วเสร็จ และไม่มีการตรวจรับ"
องค์การบริหารส่วนตำบล ก. ได้ทำสัญญาจ้างนาย ก. ก่อสร้างลานกีฬาเอนกประสงค์ ราคาค่าจ้าง 498,500 บาท โดยมีกำหนดส่งมอบงานจ้างภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ซึ่งลักษณะของสัญญาเป็นสัญญาจ้างทำของ การเบิกจ่ายต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนแห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในฐานะหัวหน้าหน่วยงานคลัง และปลัด อบต. จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะนายก อบต. ผู้อนุมัติฎีกา ซึ่งหน่วยงานผู้เบิกไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบรับรอง และไม่ได้ลงลายมือชื่อในหน้าฎีกาในฐานะหัวหน้าหน่วยงานผู้เบิก อีกทั้งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีไม่ลงลายมือชื่อผู้ตรวจฎีกาเนื่องจากได้โต้แย้งด้วยวาจาและหนังสือต่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แล้วว่าไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เนื่องจากงานยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญาและผู้รับจ้างยังไม่ส่งมอบงาน โดยในวันที่มีการเบิกจ่ายเงินช่างผู้ควบคุมงานได้รายงานผลการก่อสร้างว่าได้ดำเนินการไปได้เพียงร้อยละ 70 ของปริมาณงานทั้งหมด แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่ระเบียบกฎหมายกำหนดไว้ ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันลงนามสั่งจ่ายเช็คให้นาย ก ทั้งที่ทราบดีว่าไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากงานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญาและผู้รับจ้างยังไม่ส่งมอบงานและยังไม่มีการตรวจรับงานแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบฎีกาเบิกเงิน เมื่อไม่ครบถ้วนถูกต้องสามารถยับยั้งโดยการไม่ลงลายมือชื่อเพื่อมิให้เช็คเบิกจ่ายเงินมีผลสมบูรณ์ตามเงื่อนไขที่องค์การบริหารส่วนตำบลทำข้อตกลงทางธนาคารไว้ แต่ก็หาได้กระทำไม่ กลับเลือกวิธีการเบิกจ่ายเงินทั้งที่รู้ว่าเป็นการฝ่าฝืนขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่ระเบียบกฎหมายกำหนดไว้
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่า จำเลยทั้งสามมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาเงิน จัดการและเบิกถอนเงินฝากธนาคาร กลับอาศัยโอกาสที่มีอำนาจและหน้าที่และได้รับความไว้วางใจร่วมกันกระทำความผิดเสียเอง อันแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ลักษณะการกระทำความผิดกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงการที่จำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดและเคยประกอบคุณงามความดีต่อสังคมมาก่อนเป็นเพียงเหตุผลส่วนตัว ยังไม่เพียงพอที่จะเห็นสมควรรอการลงโทษ เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาพความผิด ทั้งยังเป็นเยี่ยงอย่างให้แก่ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบประมวล
กฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 5 ปี
*คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คดีหมายเลขดำที่ อท 12/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 7077/2563
การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตใดๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง และมีเหตุผลประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้องเหมาะสม ระมัดระวังไม่ใช้เกินขอบเขตของระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้ และต้องรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของส่วนรวมด้วย ก็จะเป็นเกราะป้องกันในการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ดีที่สุด ไม่เกิดเหตุเหมือนกับกรณีศึกษาดังกล่าว
วันพรุ่งนี้เกร็ดความรู้สู้ทุจริตจะมีเรื่องราวความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันทุจริตในเรื่องอะไรโปรดติดตาม
อ่านเรื่อง "ดุลพินิจมาพร้อมกับความรับผิดชอบ" ได้ที่ : https://www.facebook.com/photo/?fbid=1027398129432346&set=a.467597362079095

Related