สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ร่วมกับจังหวัดสงขลา จัดประชุมคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ขณะที่ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา แถลงผลการดำเนินงานที่สำคัญ
ช่วงบ่ายวันนี้ (12 มีนาคม 2567) ที่ห้องประชุม CEO ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบจังหวัดสงขลา โดยมี นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางสาวดุษฎี พฤกษเศรษฐ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการวางแผนยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบจังหวัดสงขลา พร้อมได้พิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนระดับจังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการรวบรวมโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต หรือส่งเสริมคุณธรรม หรือการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ ที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบ โดยมีจำนวนหน่วยงานทั้งหมด 10 หน่วยงาน 22 โครงการ/กิจกรรม งบประมาณรวม 674,700 บาท
.
โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ได้รายงานข้อมูลสิ่งปลูกสร้าง/โครงการของส่วนราชการในจังหวัดสงขลา ที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จหรือดำเนินการแล้วเสร็จแต่ไม่ใช้ประโยชน์ (สิ่งปลูกสร้างทิ้งร้าง) ของหน่วยงานภายในจังหวัดสงขลา จำนวน 20 กระทรวง ปรากฏว่ามีส่วนราชการภายในจังหวัด 10 กระทรวง รายงานว่าไม่มีข้อมูลของสิ่งปลูกสร้างทิ้งร้าง และอีก 10 กระทรวงยังไม่ได้รายงานให้จังหวัดทราบ ทั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสงขลา มีข้อเสนอให้จังหวัดสงขลาจัดทำหนังสือสั่งการให้หน่วยงานราชการภายในจังหวัดสงขลา รวมถึงหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสำรวจ และทบทวนข้อมูลอีกครั้ง และขอความอนุเคราะห์ให้นายอำเภอดำเนินการประสานกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน แจ้งประชาชนในพื้นที่หากพบเห็นสิ่งปลูกสร้าง/โครงการของส่วนราชการที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ หรือสิ่งปลูกสร้างทิ้งร้างในพื้นที่ที่อาศัยอยู่สามารถแจ้งข้อมูลมายังสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสงขลาโดยตรง ผ่านระบบออนไลน์ อาทิ Google Form Facebook Tiktok หรือแจ้งผ่านกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และให้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวจัดส่งมางอำเภอ เพื่อสรุปรายงานฯ ต่อไป
.
ส่วนประเด็นแนวทางการดำเนินการและการพัฒนาโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา (อควาเรียมหอยสังข์) ซึ่งภายหลังการประชุม สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา โดยนายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ได้แถลงความคืบหน้าการกำหนดแนวทางการดำเนินการและการพัฒนาโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา (อควาเรียมหอยสังข์) โดยได้มีบันทึกข้อความถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอหารือแนวทางการดำเนินการโครงการของหน่วยงานของรัฐที่อยู่ระหว่างถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน หากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จ และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและความคุ้มค่าต่อไปได้หรือไม่ ทางสำนักกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช ได้ให้ความเห็นว่า ในการพิจารณาว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้หรือไม่ หรือจะสามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จหรือใช้ประโยชน์ หรือเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ หรือ ถ่ายโอนสิ่งก่อสร้างให้หน่วยงานอื่นดำเนินการต่อไปได้หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการ ดังกล่าวที่จะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อไป
.
นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ยังได้แถลงความคืบหน้าการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 4 กับทางหลวงหมายเลข 406 (แยกคูหา) จังหวัดสงขลา ระยะทางประมาณ 4.765 กม. วงเงิน 950 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการส่งผลให้การจราจรจุดก่อสร้างทางแยกต่างระดับติดขัดและประชาชนได้รับผลกระทบ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้าเกิดจากการบุกรุกพื้นที่ทางหลวง ส่งผลให้บริษัทผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานได้และเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างขอสงวนสิทธิ์ ขอขยายระยะเวลาการก่อสร้าง ซึ่งอาจเกิดความเสียหายกับทางราชการและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้ทาง โดยทางแขวงทางหลวงที่ 1 ได้ส่งเจ้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการดำเนินการของโครงการให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นขึ้น โดยสั่งการให้ผู้รับจ้างแก้ไขปัญหาหลุมบ่อบนพื้นผิวถนน และแบ่งช่องจราจรให้ชัดเจน รวมถึงเร่งรัดการขอคืนพื้นที่จากประชาชนผู้บุกรุกเขตทางหลวงเพื่อจะได้ดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนดำเนินการก่อสร้าง อีกทั้งเป็นการเตรียมพร้อมรับฤดูฝน ผู้รับจ้างควรเร่งสร้างระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่อยู่อาศัยของประชาชนบริเวณใกล้เคียง และจะทำให้การก่อสร้างถนนให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกคูหา โดยคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2568
CR:ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา