"ป.ป.ช. สงขลาประสานความร่วมมือ ไทย- มาเลเซีย"
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา จัดการประชุมคณะทำงานด้านความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตบริเวณพื้นที่เสี่ยงพรมแดนไทย จังหวัดสงขลา – สหพันธรัฐมาเลเซีย รัฐเกดะห์ (Working visit and bilateral Discussion between NACC Songkhla and MACC Kedah State) ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดจังหวัดสงขลา กับหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหพันธรัฐมาเลเซีย (The Malaysian Anti-Corruption Commission : MACC) รัฐเกดะห์ ในวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมวิสต้า ด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระหว่างกัน ทั้งทางด้านวิชาการ การช่วยเหลือทางคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต อาทิ การลักลอบนำเข้าสินค้าหลบเลี่ยงภาษีตามแนวชายแดน การติดตามทรัพย์สินคืนจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริต และยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานทั้งสองประเทศ อันจะเป็นโยชน์ในการประสานความร่วมมือการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต่อไป
โดยในวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2567 นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสงขลา หัวหน้าคณะฯ ฝ่ายไทย กล่าวต้อนรับคณะผู้แทนจากหน่วยงาน Malaysian Anti-Corruption Commission (MACC) รัฐเกดะห์ สู่จังหวัดสงขลา อย่างเป็นทางการ ซึ่งการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งนี้ นับว่าเป็นความก้าวหน้าของความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของทั้งสองประเทศ ในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริตซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อระบบสังคมและเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีความซับซ้อนกลายเป็นกระบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากมิตรประเทศในการดำเนินการปราบปรามร่วมกัน โดยเฉพาะในครั้งนี้ทั้งสองประเทศได้หารือในประเด็นปัญหาการเปิดใช้งานด่านพรมแดนสะเดาแห่งใหม่ล่าช้า, ปัญหาการขนส่งสินค้าผ่านแดน (น้ำมันเชื้อเพลิง) ที่อาศัยช่องว่างดังกล่าวในการขนถ่ายน้ำมันเพื่อใช้ในประเทศ และการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจความร่วมมือเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของไทย – มาเลเซีย
จากนั้นในช่วงบ่ายได้นำคณะผู้ร่วมเข้าประชุม สังเกตการณ์การด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ และก่อสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่าง ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่และด่านบูกิตกายูฮิตัม ร่วมถึงเดินทางไปยังด่านบูกิตกายูฮิตัม สหพันธรัฐมาเลเซีย รัฐเกดะห์ เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงาน CIQs โดยได้ร่วมหารือเกี่ยวกับประเด็นจุดเชื่อมต่อ และความคืบหน้าของการออกแบบการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อของทางประเทศระหว่าง ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่และด่านบูกิตกายูฮิตัม
โดยความคืบหน้าการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่าง ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่และด่านบูกิตกายูฮิตัม ล่าสุดในที่ประชุมร่วมกับคณะทำงานชด้านเทคนิค (Expert Working Group -EWG) เพื่อเชื่อมต่อด่านสะเดา-ยูกิตกายูฮิตัม ร่วมระหว่างฝ่ายไทย-ฝ่ายมาเลเซีย ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ประชุมได้แจ้งความคืบหน้าในการปรับปรุงแบบก่อสร้างถนนของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่สืบเนื่องจากการประชุม EWG ร่วมไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 รวมทั้ง ได้แลกเปลี่ยนประเด็นทางเทคนิค และกรอบการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งมีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
1) ฝ่ายไทยได้นำเสนอ Final Drawing ซึ่งแก้ไขตามมติการประชุม EWG ร่วมไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 2 ให้มีความสอดคล้องกัน ทั้งการปรับตำแหน่งศูนย์กลางของถนน มุมองศาของถนน รวมทั้งการจำกัดความเร็วของถนน และฝ่ายมาเลเซีย นำเสนอ Concept Design Drawing ซึ่งจะสามารถจัดส่ง Detailed Drawing ให้ฝ่ายไทยภายในเดือนพฤษภาคม 2567
2) ทั้งสองประเทศจะมีการสำรวจพื้นที่ก่อสร้างร่วมกัน ในวันที่ 21 มีนาคม 2567 และในวันที่22 มีนาคม 2567 จะจัดให้ประชุม EWG ร่วมไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 4 โดยฝ่ายมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ
3) กำหนดกรอบการดำเนินงานในระยะต่อไป ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ในห้วงเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งฝ่ายไทย คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และฝ่ายมาเลเซียจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2569
ซึ่งการจัดการประชุมครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงาน และผู้เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ได้แบ่งปันประสบการณ์ และวิธีปฏิบัติงาน อันจะพัฒนาความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนวิธีการป้องกันการทุจริตในพื้นที่เสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานได้จริง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงาน ที่จะต้องปฏิบัติงานร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงกิจกรรมการป้องกันการทุจริตต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 หรือ UNCAC ข้อบทที่ 48 ความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย และข้อ 49 การสืบสวนสอบสวนร่วมกัน
ผลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดแนวทางและวิธีดำเนินการอย่างมีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ เกิดความริเริ่มใหม่ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติ ซึ่งจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่งแก่ ทั้งสองหน่วยงาน และทั้งสองประเทศ ต่อไป