การประจำปีของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใสในกรอบเอเปค ครั้งที่ 39
วันที่ 14 สิงหาคม 2567 (วันที่ 1) คณะผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. นำโดยพันตำรวจตรีชัชนพ ผดุงกาญจน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ สำนักกิจการและคดีทุจริตระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประจำปีของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใสในกรอบเอเปค (APEC Anti-Corruption and Transparency Experts’ Working Group: APEC ACTWG) ครั้งที่ 39 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู 

การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิก ACTWG ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี ตลอดจนรายงานความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริตของเขตเศรษฐกิจตน โดยผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ได้กล่าวรายงานถึงความคืบหน้าและพัฒนาการในการดำเนินการตามอนุสัญญา UNCAC ของไทย ได้แก่ การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.ป. ป.ป.ช. ในเรื่องการสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ และกระบวนการการชะลอการดำเนินคดีอาญาในชั้นไต่สวนสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่ออนุวัติการตาม UNCAC และพัฒนาประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการจัดการประชุมร่วมกับ UNODC เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตในภูมิภาค 

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567(วันที่ 2) เขตเศรษฐกิจสมาชิกได้ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ในหัวข้อความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ บทบาทของเทคโนโลยีในการต่อต้านการทุจริต และการส่งเสริมมุมมองด้านเพศในการต่อต้านการทุจริต โดยผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมแบ่งปันเกี่ยวกับบทบาทของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การใช้ Geographic Information System (GIS) เพื่อตรวจสอบกรณีทุจริตเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ระบบ CCMS และ ACAS การจัดทำ Corruption Risk Map เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการพัฒนา application ของ ป.ป.ช. ซึ่งมีช่องทางให้ประชาชาชนสามารถรายงานการทุจริตและติดตามความคืบหน้ารายงาน และ application WE STRONG อันเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงประชาชน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตของไทย 

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 (วันที่ 3) คณะผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ Denying Safe Haven to Corruption through Enhancing Mutual Legal Assistance (MLA) โดยในการประชุมนี้ ผู้แทนจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารก่อนการมีคำร้อง MLA อย่างเป็นทางการ เช่น การเลือกช่องทางในการประสานความร่วมมือที่ถูกต้อง ความเข้าใจข้อกำหนดและเงื่อนไขของแต่ละเขตเศรษฐกิจ การมีกำลังคนและทรัพยากรในการดำเนินงานที่เหมาะสม และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายผู้บังคับใช้กฎหมายต่างๆ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานคู่ขนาน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กล่าวถึงความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการในฐานะองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จของ MLA โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายผ่านการสร้าง partnership ระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น เครือข่าย ACT-NET, GlobE และ SEAJust