สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินกิจกรรมการผลักดันและติดตามการขับเคลื่อนหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนากับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) (ครั้งที่ 7) ภายใต้โครงการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ไปพลางก่อน) ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมฯ ไปแล้ว ในวันที่ 1 เมษายน 2567ที่ผ่านมา
ในวันที่ 1 เมษายน 2567 เวลา 13.00-15.00 น. ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. นำโดย รศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. พันตรีหญิง นิมมาน์ แก่นกำจร ผอ.กลุ่ม สสร. 1 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต (สสร.) ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประกอบด้วยนายสุพัฒน์ เมืองฉัจจา ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม และนายเชิดศักดิ์ ทองหนัน ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งเจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์กรมการปกครอง (DOPA Channel) ของกระทรวงมหาดไทย เข้ากราบนมัสการพระโสภณวชิรวาที (อาทิตย์ อตฺเวที) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เพื่อบันทึกเทปรายการ “ป.ป.ช. สื่อสารธรรมะต้านโกง” หัวข้อ “การขับเคลื่อนหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนากับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) ของพระสงฆ์” และการแสดงพระธรรมเทศนา “ปักหมุดสุจริตธรรมในใจ คนไทยไม่โกง” คัมภีร์เทศน์หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนากับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) กัณฑ์ที่ ๒ พระธรรมเทศนา สังวรปธานกถา ว่าด้วยความเพียรระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมเกิดขึ้น พร้อมบันทึกเทปการเทศนา โดยสถานีโทศทัศน์กรมการปกครอง (DOPA Channel) ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพระโสภณวชิรวาที (อาทิตย์ อตฺเวที) ได้แสดงทัศนะว่าการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดขึ้นในใจของประชาชนต้องใช้หลักธรรมหัวข้อ “สติสัมปชัญญะ : ความระลึกได้และรู้สึกตัว” ซึ่งหลักธรรมดังกล่าวเป็นหลักธรรมที่อุปการะต่อโลก โดย “สติ” หมายถึง ความระลึกในการคิด การพูด และการกระทำในสิ่งต่างๆ ส่วนคำว่า “สัมปชัญญะ” หมายถึง การรู้สึกตัวในขณะกระทำสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการต้องนำหลักธรรมดังกล่าวมาปรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้รู้ตัวว่าควรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และหากเกิดสิ่งยั่วยุในขณะปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความทุจริตหรือมีอคติ ก็ตั้งมั่นในการดำรงตนให้ซื่อสัตย์สุจริต ไม่อ่อนไหวต่อสิ่งยั่วยุ โดยนำหลักธรรมเรื่องปธาน ๔ มาใช้ดำเนินชีวิต ได้แก่ 1) สังวรปธาน : เพียรระวังยับยั้งการทุจริตที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น 2) ปหานปธาน : เพียรละการทุจริตที่เกิดขึ้นแล้ว 3) ภาวนาปธาน : เพียรทำสุจริตธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้นมา 4) อนุรักขนาปธาน: เพียรรักษาสุจริตธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมและบำเพ็ญให้เจริญยิ่งขั้นไปจนไพบูลย์ อีกทั้ง ควรใช้หลักธรรม “หิริและโอตตัปปะ : ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป” ซึ่งคำว่า “หิริ” คือ ความละอาย เมื่อจะกระทำความผิดต้องเกิดความละอายแก่ใจว่าตนเองจะเกิดความเสียหายรวมถึงบิดา มารดา บุตร สามี ภรรยา ตลอดจนถึงญาติพี่น้อง ก็จะต้องเกิดความเสียหายไปด้วย เมื่อมี “หิริ” แล้ว หลักธรรม “โอตตัปปะ”ตามมาคือเกิดความเกรงกลัวต่อบาป การกระทำความผิดก็จะไม่เกิดขึ้น รวมทั้งต้องดำรงตนอยู่ในกรอบของศีล 5 ซึ่งเป็นแนวทางแห่งความซื่อสัตย์ จึงจะเกิดความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทั้งทางโลกและทางธรรม สุดท้ายนี้พระโสภณวชิรวาที (อาทิตย์ อตฺเวที) ได้ให้ข้อคิดคติธรรมทิ้งท้ายไว้ว่า การสร้างสังคมที่โปร่งใสปลอดจากการทุจริตได้ต้องมีหลักธรรมคือ “สะอาด สงบ สร้างสรรค์การทำความดี” สังคมจึงจะน่าอยู่อย่างแท้จริง ทั้งนี้ เทปการแสดงพระธรรมเทศนาจะได้นำไปเผยแพร่ทั่วประเทศผ่านช่องทางของกระทรวงมหาดไทยและสำนักงาน ป.ป.ช. ต่อไป