เมื่อวันที่ 6, 13, 16 และ 20 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ได้จัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ครั้งที่ 3 - 6) จำนวน 8 เขต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption - TaC) โครงการดังกล่าว เป็นการร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และกรุงเทพมหานคร ในการร่วมสร้างกรุงเทพมหานคร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต "STRONG Smart Capital Bangkok" การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง 4 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา มุ่งสู่การส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริตและมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่งผลให้คดีทุจริตลดลง ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร กำหนดแนวทาง/ข้อตกลง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สู่การยกระดับค่าคะแนน CPI โดยได้ดำเนินการในวันเวลา ดังนี้
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตบางขุนเทียน ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ โครงการปรับปรุงถนนอนามัยงามเจริญ บริเวณช่วงจากคลองวัดท่าข้าม ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักการโยธา กทม. ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลงด้วยการแจ้งประเด็นปัญหาผ่านสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในพื้นที่ เพื่อประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดำเนินการแก้ไข อีกทั้งทางบริษัทผู้รับจ้างจะมีการวางท่อระบายน้ำรองรับปริมาณน้ำฝน ทั้ง 2 ฝั่งถนน และวางกระสอบทรายรวมทั้งเปิดช่องทางเพื่อระบายน้ำออก ในขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตประเวศ ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การบุกรุกที่ดินของรัฐและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน บริเวณตรงข้ามสวน 50 พรรษา พื้นที่ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 28 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานเขตประเวศ ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลงด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานเขต เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่อย่างชัดเจน
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตธนบุรี ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การเรียกเก็บเงินหาบเร่ - แผงลอย (ทั้งที่มีใบเสร็จและไม่มีใบเสร็จ) บริเวณซอยอิสรภาพ 9 – 15 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตธนบุรี ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลงด้วยการเสนอให้มีการแต่งตั้งผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่ - แผงลอย ระดับเขต ส่วนกรณีที่มีรถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตธนบุรี พิจารณาการทำเสากั้นไม่ให้รถจักรยานยนต์สามารถขึ้นมาบนทางเท้าได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงผู้ใช้ wheel chair ในพื้นที่ด้วย ขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตคลองสาน ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การปล่อยให้ผู้ค้าหาบเร่ - แผงลอย ขายของบนทางเท้าและการตั้งวางขายของนอกจุดผ่อนผัน บริเวณตลาดท่าดินแดง แยกท่าดินแดง ซอย 9 – 15 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตคลองสาน ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลงตามที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานครมีนโยบายจัดระเบียบทั้งแนวนอกและแนวใน กรณีแนวนอกสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่ ส่วนกรณีการจัดระเบียบแนวในอยู่ระหว่างการจัดระเบียบโดยอนุโลม 2 แนวกระเบื้อง โดยเสนอให้ตีเส้นเพื่อกำหนดเป็นแนวเขตบริเวณหน้าอาคารพาณิชย์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรุกล้ำบริเวณฟุตบาท หากตรวจเจอว่ามีการรุกล้ำจะเรียกปรับเป็นรายครั้ง
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตพญาไท ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การขายของกีดขวางทางเดินเท้า และการไม่ดูแลรักษาความสะอาด (การทิ้งขยะ/น้ำล้างภาชนะลงในท่อระบายน้ำ) บริเวณซอยพหลโยธิน 5 (ซอยอารีย์) และถนนประดิพัทธ์ (ย่านสะพานควาย) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตพญาไท ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลงในการจัดระเบียบผู้ค้า โดยให้ผู้ค้าติดบัตรประจำตัว (กรณีขายอาหาร ให้ผู้ค้าสวมหมวก และเอี๊ยมสีขาว) นอกจากนี้ ได้ทำ MOU ร่วมกับธนาคารออมสิน ซึ่งทางธนาคารออมสินได้ให้การสนับสนุนแผงค้าและร่ม พร้อมทั้งมีนโยบายให้ผู้ค้าสวมสีเสื้อตามวัน ในขณะเดียวกัน ผู้แทนภาคประชาชนเขตราชเทวี ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ ผู้ค้าขายหาบเร่ – แผงลอย ขายของบนทางเท้า ผู้ประกอบกิจการรถยนต์วางของบนทางเดินเท้า และการปล่อยให้มีการจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้า กีดขวางทางเดินของประชาชน บริเวณถนนบรรทัดทอง - ถนนพญาไท สะพานหัวช้าง ฝั่งโรงแรมเอเชีย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตราชเทวี ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง กรณีพบผู้ค้าขายของหรือวางสิ่งของรุกล้ำที่สาธารณะในลักษณะกระทำผิดซ้ำซาก ฝ่ายเทศกิจควรบังคับใช้มาตรการและบทลงโทษตามระดับความผิดอย่างเคร่งครัด
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตคลองเตย ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ ความกว้างของถนนตามที่กฎหมายกำหนด และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม/ความปลอดภัย จากการก่อสร้างคอนโด Modiz Sukhumvit 50 บริเวณท้ายซอยสุขุมวิท ๕๐ ทางรถไฟสายเก่า โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตคลองเตย ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะรวบรวมข้อมูล ประเด็นปัญหา และข้อเสนอแนะ/แนวทางการแก้ไข นำเข้าสู่ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. (Corruption Deterrence Center : CDC) เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป ในขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชน เขตสาทร ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การพิจารณาแผนพัฒนาชุมชน และการบริหารงาน/ความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ โครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2566 พื้นที่ชุมชนในเขตสาทร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตสาทร ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลงให้กรุงเทพมหานครพิจารณาประเด็นการแสดงบทบาทของ ส.ก. ที่จะมีส่วนร่วม
ในกรอบการใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้ร่วมกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชน (สมาชิกชมรม) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจป้องกันการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นเมืองหลวงที่โปร่งใส ปลอดจากสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบต่อไป