เมื่อวันที่ 5, 7, 12, 14, 19 และ 26 มีนาคม 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ได้จัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ครั้งที่ 7 - 12) จำนวน 12 เขต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption - TaC) โครงการดังกล่าว เป็นการร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และกรุงเทพมหานคร ในการร่วมสร้างกรุงเทพมหานคร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต "STRONG Smart Capital Bangkok" การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง 6 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา มุ่งสู่การส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริตและมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่งผลให้คดีทุจริตลดลง ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร กำหนดแนวทาง/ข้อตกลง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สู่การยกระดับค่าคะแนน CPI โดยได้ดำเนินการในวันเวลา ดังนี้
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตบางแค ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การเรียกเก็บเงินกับผู้ค้า – หาบเร่แผงลอยที่ขายสินค้าบนทางเท้า บริเวณฝั่งตรงข้ามตลาดบางแค ตั้งแต่ซอยเพชรเกษม 64 – เพชรเกษม 68 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตบางแค ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา กรณีการจัดระเบียบพื้นที่และการจดทะเบียนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตภาษีเจริญ ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การเรียกเก็บเงินกับผู้ค้า – หาบเร่แผงลอยที่ขายสินค้าบนทางเท้าซอยเพชรเกษม 48 แยก 2 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตภาษีเจริญ ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลงโดยมีข้อเสนอว่าควรให้มีผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่ - แผงลอย ระดับเขต และได้มีการจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์การทำการค้าบนทางเท้าฉบับใหม่ ทดแทนประกาศ กทม. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้า และการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ พ.ศ. 2563 โดยจัดทำประชาคมเพื่อสำรวจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างหลักเกณฑ์ฉบับใหม่ ก่อนใช้บังคับจริง ในวันที่ 16 มีนาคม 2567
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตบางซื่อ ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การเรียกเก็บเงินกับผู้ค้าที่ขายสินค้าบนทางเท้า บริเวณซอยประชาราษฎร์ 36 หลังโรงพยาบาลบางโพ และหน้าวัดเชิงหวายถึงตลาดบางซ่อน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตบางซื่อ ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลงตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร ด้วยการสำรวจจำนวนผู้ค้ารายเดิม หากมีการยกเลิกขายสินค้า ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตบางซื่อ จะไม่มีการเพิ่มหรือทดแทนผู้ค้ารายใหม่ ขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตดุสิต ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การปล่อยให้มีการประกอบกิจการของแรงงานต่างด้าว บริเวณตลาดศรีย่าน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตดุสิต ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง ในส่วนที่อยู่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ เจ้าหน้าที่ควรประสานงานระหว่างหน่วยงาน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแรงงานต่างด้าว โดยลงพื้นที่/กิจการกลุ่มเสี่ยงที่จะมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีกระทำผิดจากการประกอบอาชีพค้าขาย หาบเร่ – แผงลอย
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตบึงกุ่ม ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การพิจารณาแผนพัฒนาชุมชน และการบริหารงาน/ความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณโครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2566 ของชุมชนที่ได้รับการอนุมัติแผนฯ ในพื้นที่เขตบึงกุ่ม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตบึงกุ่ม ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำนักงานเขตจะดำเนินการเปิดเวทีประชาคมให้แล้วเสร็จภายในเมษายน และคาดว่าจะดำเนินการส่งมอบของได้ภายในเดือนกันยายน 2567 ก่อนสิ้นปีงบประมาณ ขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตลาดกระบัง ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การเรียกเก็บเงินกับผู้ค้า (รถจักรยนต์พ่วงข้างสำหรับขายของ) ซึ่งเป็นคนต่างด้าว บริเวณซอยฉลองกรุง 1 ซอยวัดปลูกศรัทธา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตลาดกระบัง ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง ในการเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงช่องทางการแจ้งเบาะแสและเรื่องร้องเรียน
ที่สะดวก ง่าย และปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบโดยทั่วกัน
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตทวีวัฒนาและเขตตลิ่งชัน ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การตรวจสอบความโปร่งใสของการใช้งบประมาณ และความล่าช้าในการก่อสร้าง/ไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โครงการเชื่อมต่อถนนพุทธมณฑลสาย 2 – 3 เขตทวีวัฒนาและเขตตลิ่งชัน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักการโยธา กทม. ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง สำนักงานโยธาควรปรับปรุงป้ายโครงการให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากโครงการดังกล่าว มีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชน และช่วยลดข้อร้องเรียน
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตห้วยขวาง ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ ตรวจสอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ กรณีปล่อยให้มีการขายของบนทางเดินเท้า กีดขวางผู้ใช้ทางเดินเท้า เสี่ยงต่ออันตรายและการเกิดอุบัติเหตุ ระหว่างถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญและถนนประชาอุทิศ แยกสำนักงานเขตห้วยขวาง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตห้วยขวาง ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยการจัดระเบียบร้านค้าที่อนุญาตให้ขายบนทางเท้าให้ชัดเจน ด้วยการกำหนดจุดค้าขายให้มีความเหมาะสม ชี้แจงจุดผ่อนผัน/จุดยกเลิกการผ่อนผัน ลักษณะร้านค้าที่ถูกต้องระยะเวลาการขายสินค้าริมทางเท้าที่แน่ชัด และติดป้ายให้ชัดเจนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ รวมถึงการจัดการกับผู้ค้าที่ค้าขายนอกจุดผ่อนผัน ขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตวังทองหลาง ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การตั้งหาบเร่ - แผงลอย/จอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้าและพื้นผิวจราจร กีดขวางทางสัญจร ทำให้การจราจรติดขัด ซอยรามคำแหง 53 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตวังทองหลาง ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง ในการประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานเขตวังทองหลางกับ สน.วังทองหลาง ให้จัดเจ้าหน้าที่จราจรเพื่ออำนวยความสะดวกและจัดระเบียบการจราจร ในซอยรามคำแหง 53
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตบางนา ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ ตรวจสอบการดำเนินงาน ตามสัญญาและความล่าช้าจากการซ่อมอุโมงค์ที่ถล่มและสะพานทรุดตัว บริเวณสะพานข้ามคลองเคล็ด และถนนอุดมสุข ซอยสุขุมวิท 103 เชื่อมประเวศ - พระโขนง – บางนา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักการระบายน้ำ และสำนักโยธา ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง กรณีการซ่อมสะพานข้ามคลองเคล็ดที่ทรุดตัว เนื่องจากอุโมงค์ระบายน้ำถล่ม บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างในฐานะผู้รับจ้างเป็นผู้รับผิดชอบการซ่อมแซมทั้งหมด โดยจะต้องทำแผน และ TOR ส่งให้สำนักการโยธาตรวจสอบและอนุมัติก่อน ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการซ่อมอุโมงค์ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะสามารถดำเนินการซ่อมสะพานข้ามคลองได้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ ปี 2568 ขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตพระโขนง ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การพิจารณาแผนพัฒนาชุมชน และการบริหารงาน/ความคุ้มค่า ในการใช้งบประมาณโครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2566 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตพระโขนง ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง สำนักเขตต้องชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนได้เข้าใจถึงรายละเอียด วัตถุประสงค์ ขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินโครงการ รวมถึงรายการพัสดุ/ครุภัณฑ์ ที่ชุมชนสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดเวทีประชาคม โดยอาจยกตัวอย่างรายการที่จัดซื้อจัดจ้างในปีที่ผ่านมา และการจัดทำข้อมูลเป็น infographic หรือสรุปข้อมูลอย่างย่อให้สามารถอ่านและเข้าใจได้ง่าย ประชาชนรับรู้อย่างทั่วถึง เพื่อลดข้อขัดแย้งและประเด็นคำถามที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้ร่วมกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชน (สมาชิกชมรม) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจป้องกันการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นเมืองหลวงที่โปร่งใส ปลอดจากสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบต่อไป