สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ดำเนินกิจกรรมการผลักดันและติดตามการขับเคลื่อนหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนากับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) (ครั้งที่ 9) ภายใต้โครงการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันการทุจริตประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ไปพลางก่อน) ระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี
-----------------------------------------------------------------
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินกิจกรรมการผลักดันและติดตามการขับเคลื่อนหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนากับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) (ครั้งที่ 9) ภายใต้โครงการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ไปพลางก่อน) ณ จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมฯ ไประหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30-11.00 น. ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. นำโดย รศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. นายจักรินทร์ ชุมจินดา ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช นางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต เจ้าหน้าที่สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต (สสร.) เจ้าหน้าที่สำนักสื่อสารองค์กร (สสอ.) และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เข้ากราบนมัสการพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรากร (สมปอง ปญฺญาทีโป) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 16 , 17 - 18 (ธ) เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งพระเดชพระคุณได้กล่าวถึงสาเหตุของการทุจริตและวิธีแก้ไขปัญการทุจริตว่าผู้กระทำการทุจริตเกิดจากความโลภ ความยากได้อยากมี และไม่มีความพึ่งพอใจเพราะผู้กระทำการทุจริตไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ดังนั้นจึงต้องขจัดความชั่วในจิตใจด้วยการยึดหลักธรรมเพื่อชำระจิตใจดังนี้ 1. “การทำทาน”หมายถึง การบริจาคทาน ทำให้ความโลภที่หุ้มใจเราก็จางหายไปเรื่อย ๆ จิตที่ปราศจากความโลภก็จะใสขึ้น ความหิว ความอยากต่าง ๆ ก็หมดไป จิตก็บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น 2. “การรักษาศีล” หมายถึง การปฏิบัติตนโดยไม่ฝ่าฝืนข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กำหนดการปฏิบัติกายและวาจาให้เป็นปกติและเมื่อได้รักษาศีลแล้ว จะส่งผลให้ความร้อนของจิตที่เกิดจากความโกรธก็ค่อย ๆ คลายลง จิตก็ผ่องใสยิ่งขึ้น มีคุณภาพขึ้น บุญที่เกิดขึ้นจากการรักษาศีลก็บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นกว่าการให้ทาน 3. “การเจริญภาวนา” หมายถึง การเจริญ การอบรมและการทำให้จิตใจพัฒนาขึ้น อีกทั้งคณะผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เข้ากราบพระราชวิสุทธิกวี (ไมตรี ปภารตโน) เจ้าคณะภาค 16 (ธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งพระเดชพระคุณท่านได้ให้คำแนะนำในการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนฯ ว่าการป้องกันการทุจริตต้องกระทำร่วมกันทุกภาคส่วนอันได้แก่ ภาครัฐ/ภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยทุกภาคส่วนต้องบูรณาการในการป้องกันการทุจริต ส่วนหลักธรรมในการป้องกันการทุจริตที่สำคัญคือ “การรักษาศีล” ซึ่งหลักธรรมนี้ช่วยหยับยั้งจิตใจไม่ให้กระทำความชั่วได้ ก่อให้เกิดอานิสงค์ก่อให้เกิดโภคทรัพย์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าได้ และการละเว้นอบายมุขต่างๆเพื่อให้จิตใจไม่เกิดความโลภจนกระทำการทุจริตได้ ทั้งนี้ พระราชวิสุทธิกวี (ไมตรี ปภารตโน) ได้แสดงพระธรรมเทศนา “ปักหมุดสุจริตธรรมในใจ คนไทยไม่โกง” คัมภีร์เทศน์กัณฑ์ “สังวรปธานกถา :ว่าด้วยความเพียรระวังยับยั้งบาป อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น” แก่สมาชิกชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช และคณะนักเรียนโรงเรียนคีรีราชพัฒนา พร้อมบันทึกเทปการเทศนาจากสถานีโทรทัศน์ กรมการปกครอง (DOPA Channel) กระทรวงมหาดไทย
ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30-11.00 น. ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลางพร้อมเจ้าหน้าที่ นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 นายเนติพล ชุมยวง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี นางประวิว พรมมานอก ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้ากราบนมัสการพระพรหมวชิรเมธาจารย์ (พงศ์สรร อสิญาโณ) เจ้าคณะภาค 16 (นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี) เจ้าอาวาสวัดไตรธรรมาราม พระอารามหลวง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งพระเดชพระคุณท่านได้ให้คำแนะนำว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ประจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานีควรขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือทางศาสนาในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยประยุกต์หลักธรรมคำสอนกับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) โดยถวายความรู้ด้านกฎหมายที่จำเป็นและชุดความรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนหลักธรรมคำสอนสอดแทรกในโครงการอบรมพระนักเทศน์ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2567 และบรรจุเป็นหลักสูตรให้พระนักเทศน์นำไปเทศนาสั่งสอนแก่ประชาชนทั่วไป อีกทั้ง พระเดชพระคุณท่านได้ให้ข้อคิดสาเหตุของการทุจริตเกิดจากการความยับยั้งชั่งใจก่อให้เกิดมโนทุจริต วาจาทุจริต และกายทุจริต ดังนั้นจึงต้องชำระจิตใจให้ความบริสุทธิ์ทั้งกายวาจาและใจ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ยั่วยวนให้เกิดกิเลสความโลภด้วย ทั้งนี้ พระพรหมวชิรเมธาจารย์ (พงศ์สรร อสิญาโณ) ได้มอบหมายให้พระครูศรัทธาโสภิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรธรรมาราม พระอารามหลวง แสดงพระธรรมเทศนา “ปักหมุดสุจริตธรรมในใจ คนไทยไม่โกง” คัมภีร์เทศน์กัณฑ์ “สังวรปธานกถา : ว่าด้วยความเพียรระวังยับยั้งบาป อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น” แก่สมาชิกชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี และคณะญาติโยมที่ร่วมทำบุญ พร้อมบันทึกเทปการเทศนาจากสถานีโทรทัศน์กรมการปกครอง (DOPA Channel) กระทรวงมหาดไทย
เวลา 14.00-15.30 น. คณะเข้ากราบนมัสการพระราชไพศาลมุนี (ปราโมทย์ สิริจนฺโท) เจ้าอาวาสวัดธรรมบูชาพระอารามหลวง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งได้แสดงทัศนะว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริตควรปลูกฝังให้ประชาชนรักษาศีล 5 ทั้งหลักธรรมเบญจศีลและเบญจธรรม เพื่อให้จิตใจละเว้นจากความชั่วและประพฤติแต่ความดี อีกทั้งการป้องปรามการทุจริตควรเน้นในวัยผู้ใหญ่โดยต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ใหญ่ประพฤติทุจริตในการทำงาน สำหรับพระครูสุนทรธรรมพินิจ (เที่ยง ญาณุชุโก) ก็ให้ข้อคิดธรรมเพิ่มเติมว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาการทุจริตด้วยการปลูกฝังให้ประชาชนรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัดแล้ว การรณรงค์ป้องกันการทุจริตก็ควรมีการบูรณาการกันระหว่างคณะสงฆ์ให้เทศนาสั่งสอนให้ประชาชนทำแต่ความดีละเว้นความชั่ว ครูอาจารย์สั่งสอนให้เด็กและเยาวชนมีความละอายและเกรงกลัวต่อการทุจริต และครอบครัวควรสร้างสำนึกที่ดีมีความสุจริตให้แก่เด็กและเยาวชน อีกทั้ง พระครูสุนทรธรรมพินิจ (เที่ยง ญาณุชุโก) ได้แสดงพระธรรมเทศนา “ปักหมุดสุจริตธรรมในใจ คนไทยไม่โกง” คัมภีร์เทศน์กัณฑ์ “ภาวนาปธานกถา: ว่าด้วยความเพียรในการสร้างสรรค์สุจริตธรรมความดี” แก่คณะผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง และคณะเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 คณะเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี คณะเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานีสมาชิกชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมบันทึกเทปการเทศนาจากสถานีโทรทัศน์กรมการปกครอง (DOPA Channel) กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปเผยแพร่ทั่วประเทศต่อไป