สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตกรุงเทพมหานคร ประจำเดือนมิถุนายน (ครั้งที่ 22 - 27)
-----------------------------------------------------------------
เมื่อวันที่ 5, 7, 12, 14 ,19 และ 21 มิถุนายน 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ได้จัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ครั้งที่ 22 - 27) จำนวน 12 เขต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption - TaC) โครงการดังกล่าว เป็นการร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และกรุงเทพมหานคร ในการร่วมสร้างกรุงเทพมหานคร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต "STRONG Smart Capital Bangkok" การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง 6 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา มุ่งสู่การส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริตและมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่งผลให้คดีทุจริตลดลง ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร กำหนดแนวทาง/ข้อตกลง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สู่การยกระดับค่าคะแนน CPI โดยได้ดำเนินการในวันเวลา ดังนี้
เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตจอมทอง ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ ตรวจสอบหลักเกณฑ์ ขั้นตอน อัตราค่าธรรมเนียมการขออนุญาตต่อเติม/ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน (กรณี
มีแบบแปลนและไม่มีแบบแปลน) ในพื้นที่เขตจอมทอง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตจอมทอง ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีข้อเสนอว่า สำนักงานเขตต้องให้ข้อมูลหลักเกณฑ์ ขั้นตอน อัตราค่าธรรมเนียม การขออนุญาตต่อเติม/ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนทุกกรณี ให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน และสำนักงานเขตควรให้ข้อมูลผู้นำชุมชนเพื่อนำไปให้ข้อมูลแก่ประชาชนในชุมชนต่อ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ ในขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตบางกอกน้อย ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ กรณีความโปร่งใสการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำลำน้ำ (การเอื้อประโยชน์/สินบนแก่เอกชน) บริเวณสะพานข้ามคลองกระท้อนแถว ซอยจรัฐสนิทวงศ์ 25 – 27 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีข้อเสนอว่า สำนักงานเขตบางกอกน้อยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของสภากรุงเทพมหานคร ที่ได้ประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างสะพานปรับปรุงแก้ไขถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาต
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตพระนคร ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การปล่อยให้ผู้ประกอบกิจการ (ร้านอาหาร) วางโต๊ะนั่งทานอาหารกีดขวางทางเดินเท้า บริเวณแยกเทเวศร์ ถนนสามเสน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตพระนคร ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีข้อเสนอว่า สำนักงานเขตพระนคร ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูล และรับรู้ข่าวสารอย่างทั่วถึง ทั้งกรณีที่มีการยกเลิกจุดผ่อนผัน ซึ่งทางกรุงเทพมหานครมีนโยบายให้สำนักงานเขตหาพื้นที่รองรับในการค้า โดยเป็นการรวมศูนย์ร้านค้า Hawker center และกรณีผู้ค้าวางโต๊ะเก้าอี้ล้ำทางเท้า ที่ได้ขอความร่วมมือกับผู้ค้าในการจัดระเบียบพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวก ในขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การพิจารณาแผนพัฒนาชุมชน และการบริหารงาน/ความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ โครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2566 บริเวณ ชุมชนที่ได้รับการอนุมัติแผนฯ ในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสังคม สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีข้อเสนอว่า สำนักงานเขตฯ ควรเสนอให้ทางกรุงเทพมหานคร มีการทบทวนหลักเกณฑ์การเปิดเวทีชุมชนในระดับนโยบาย โดยไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมในการเปิดเวทีชุมชน และจำนวนครั้ง แต่ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของโครงการที่ต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อเป็นไปตามความต้องการของชุมชน และสำนักงานเขตควรจะแจ้งความคืบหน้าการดำเนินโครงการผ่านประธานชุมชน และคณะกรรมการชุมชน เป็นระยะ เพื่อให้ผู้นำชุมชนประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนในชุมชนต่อไป
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตบางรัก ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การพิจารณาแผนพัฒนาชุมชน และการบริหารงาน/ความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ โครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2566 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสังคม สำนักงานเขตบางรัก ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีข้อเสนอว่า ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาปรับปรุงระเบียบเพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการงบประมาณได้เหมือนโครงการไทยนิยมยั่งยืน ในขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตยานนาวา ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การพิจารณาแผนพัฒนาชุมชน และการบริหารงาน/ความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ โครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2566 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสังคม สำนักงานเขตยานนาวา ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา กรณีชุมชนไม่มีความประสงค์ที่จะขอรับพัสดุครุภัณฑ์ สามารถปรับเปลี่ยนเสนอขอเป็นโครงการที่เข้าหลักเกณฑ์ของโครงการได้ เช่น การฝึกอาชีพ การดูงาน
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตสายไหม ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การพิจารณาแผนพัฒนาชุมชน และการบริหารงาน/ความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ โครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2566 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสังคม สำนักงานเขตสายไหม ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีข้อเสนอว่า หากชุมชนมีร้านค้าที่ต้องการเสนอจัดซื้อ สามารถทำราคากลางยื่นเสนอต่อสำนักงานเขตได้ ในขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตบางเขน ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ ตรวจสอบความล่าช้าและคุณภาพของงานจากการใช้งบประมาณเพื่อทำการปรับปรุงซอยรามอินทรา 5 บริเวณ ซอยรามอินทรา 5 เชื่อมต่อซอยเทพรักษ์ 20 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และฝ่ายโยธา สำนักงานเขตบางเขน ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีข้อเสนอว่า กรณีที่ถนนไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอ และมีโค้งอันตราย ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตบางเขน รับไปประสานกับการไฟฟ้า และให้ภาคประชาชนร่วมชี้จุดที่จะติดตั้งไฟฟ้า และเพิ่มกระจกวงกลม รวมถึงสัญญาณไฟกระพริบเตือน
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตสวนหลวงและผู้แทนภาคประชาชนเขตวัฒนา ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การพิจารณาแผนพัฒนาชุมชน และการบริหารงาน/ความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ โครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2566 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสังคม สำนักงานเขตสวนหลวงและฝ่ายพัฒนาชุมชนและสังคม สำนักงานเขตวัฒนา ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีข้อเสนอว่า สำนักงานเขต ควรนำเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งครุภัณฑ์ ในงบประมาณโครงการฯ ไปสู่เวทีการปรับปรุงระเบียบต่อไป ซึ่งสำนักงานเขตได้ชี้แจงเงื่อนไขของสิ่งของที่มีค่าติดตั้งไว้แล้ว หากชุมชนไม่มีความพร้อม ให้ชะลอการขอไว้ก่อน และควรจะเผยแพร่ข้อมูล/ข่าวสารผ่านทุกช่องทางการติดต่อสื่อสาร/ประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ผู้แทนภาคประชาชนเขตสะพานสูง ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ กรณีตรวจสอบความคุ้มค่าการใช้งบประมาณและแผนงานสำหรับการจัดสร้างสวน 15 นาที ตามแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และ พ.ศ. 2567 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตสะพานสูง ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีข้อเสนอว่า กรณีที่มีบ้านสร้างรุกที่สาธารณะ ตามแนวเขตคลองลาดบัวขาว ฝ่ายโยธาควรเร่งติดตามให้มีการรื้อถอน ในขณะเดียวกันผู้แทนภาคประชาชนเขตคันนายาว ได้กำหนดประเด็นการจับตามองฯ การพิจารณาแผนพัฒนาชุมชน และการบริหารงาน/ความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ โครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2566 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสังคม สำนักงานเขตสะพานสูง ร่วมกำหนดแนวทาง/ข้อตกลง โดยจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหามีข้อเสนอว่าสำนักงานเขตต้องมีการสำรวจความต้องการให้ครบทุกชุมชนจึงจะจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ได้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้ร่วมกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชน ชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจป้องกันการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นเมืองหลวงที่โปร่งใส ปลอดจากสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบต่อไป