จากไชต์: สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต
จำนวนผู้เข้าชม: 20
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ได้รับแจ้งจากศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. (Corruption Deterrence Center: CDC) ว่า เพจคิด ทำ ทิ้ง ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “ท่าเรือบางโพ 44 ล้าน ถูกทิ้งร้าง โดยกรมเจ้าท่า ได้ปรับโฉมท่าเรือบางโพ ยกระดับเป็นท่าเรืออัจฉริยะยุคใหม่ หรือ Smart Pier กำหนดเป็นอาคารก่อสร้าง 2 ชั้น กว้างขวาง ออกแบบสวยงาม ด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ไทยประยุกต์สไตล์โมเดิร์น ชั้น1 ประกอบด้วยห้องจำหน่ายตั๋ว ที่พักคอย ห้องน้ำสาธารณะ ท่าเทียบเรือ โป๊ะเทียบเรือ อาคารชั้น 2 เป็นจุดชมวิว เริ่มก่อสร้าง 2564 ตามกำหนดจะก่อสร้างเสร็จปี 2565 สร้างด้วยงบประมาณ 44,781,220.72 บาท ท่าน้ำสร้างเสร็จ ใหญ่โต มีส้วม แต่ไม่เปิดส้วมให้ใช้ เสร็จตั้งนานแต่ห้องนั่งรอก็ไม่เปิดให้ใช้ สภาพพื้นอาคารมีน้ำขังเสียดายงบประมาณ”
วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 09.30 น. สำนักงาน ป.ป.ช. นำโดย นางสาวฐิติวรดา เอกบงกชกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาการณ์ทุจริต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต และสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนกรมเจ้าท่า ณ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานนทบุรี และลงพื้นที่ท่าเรือบางโพ โดยมีนายกิตติรัศมิ์ เมธีกุล วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ นางสาวสุจี แก้วสลับนิล วิศวกรโยธาชำนาญการ และนายขวัญชัย แก้วลบ นายช่างเขียนแบบชำนาญงาน ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลโครงการดังกล่าว สรุปได้ว่า โครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเรือบางโพ กรุงเทพมหานคร ของกรมเจ้าท่า ได้รับอนุมัติงบประมาณ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 45,000,000 บาท (สี่สิบห้าล้านบาท) มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งมีผู้ยื่นข้อเสนอ 4 ราย ผ่านคุณสมบัติ 3 ราย และบริษัท เว็ลธ์ เวิร์คคิง มารีน จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ 44,900,000 บาท (สี่สิบสี่ล้านเก้าแสนบาทถ้วน) และได้ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 (450 วัน) ซึ่งต่อมามีการปรับแก้ไขสัญญา จำนวน 3 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับมีการปรับแก้ไขแบบก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จริง ทำให้ผู้รับจ้างก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งงานงวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 และกรมเจ้าท่าดำเนินการตรวจรับเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566
ทั้งนี้ จากการสอบถามในประเด็นที่มีผู้แจ้งข้อมูลว่า ท่าเรือบางโพถูกทิ้งร้างนั้น กรมเจ้าท่า ชี้แจงว่า แต่เดิมภายหลังดำเนินก่อสร้างเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเรือบางโพ กรุงเทพมหานคร แล้วเสร็จ ได้มีการเปิดใช้บริการแล้ว แต่พบปัญหาว่ามีประชาชนเร่ร่อนมาพักอาศัย และมีการงัดแงะทำลายวัสดุอุปกรณ์ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ต้องปิดใช้งานบริเวณที่พักคอยและห้องน้ำ แต่เปิดให้ใช้บริการท่าเรือตามปกติ อีกทั้ง ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม ยังอยู่ระหว่างการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในประเด็นเกี่ยวกับการเสนอให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ในบริเวณท่าเรือสาธารณะบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการเอกชนมายื่นข้อเสนอบริหารท่าเทียบเรือกับกรมธนารักษ์แล้วจ่ายค่าตอบแทนให้กับรัฐ ซึ่งในระหว่างนี้ กรมเจ้าท่า มีการแก้ไขปัญหาโดยอยู่ระหว่างดำเนินจัดซื้อจัดจ้างผู้ทำความสะอาด เพื่อดูแลและทำความสะอาดในบริเวณท่าเรือ ไปพลางก่อน
ภายหลังการประชุมหารือ คณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ป.ป.ช. และกรมเจ้าท่า ได้เดินทางและร่วมลงพื้นที่บริเวณท่าเรือบางโพ กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่จริง พบว่า ปัจจุบันมีการเปิดให้ใช้งานทั้งบริเวณท่าเรือ ที่พักคอย และห้องน้ำ เรียบร้อยแล้ว แต่พบว่าราวกั้นตกบริเวณชั้น 2 มีการชำรุด ซึ่งอาจอันตรายกับประชาชนผู้ใช้งานได้ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้แนะนำให้กรมเจ้าท่า เร่งดำเนินการแจ้งผู้รับจ้างให้ซ่อมแซมแก้ไขบริเวณดังกล่าว รวมทั้งเร่งดำเนินการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเกี่ยวกับการให้บริการท่าเรือเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้บริเวณท่าเรือบางโพ รวมถึงท่าเรืออื่น ๆ ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
ทั้งนี้ สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต จะได้ติดตามความคืบหน้าของการดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเรือบางโพ กรุงเทพมหานคร รวมถึงการบริหารจัดการท่าเรือเชิงพาณิชย์ ต่อไป
…………………………….
สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต
📞 02 528 4800 ต่อ 7156, 7161
📠 02 528 4010
📧 bbaro@nacc.go.th