Contrast
8fa5774c669883ecbdf28e806bba0878.jpg

สื่อสารองค์กร ป.ป.ช. จัดเวทีรับมอบนโยบาย พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์ หวังสร้างการรับรู้และยกระดับความเชื่อมั่นต่อ ป.ป.ช.

จากไชต์: สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงาน ป.ป.ช.
จำนวนผู้เข้าชม: 191

19/03/2567

สื่อสารองค์กร ป.ป.ช. จัดเวทีรับมอบนโยบาย พร้อมสร้างการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์ หวังสร้างการรับรู้และยกระดับความเชื่อมั่นต่อ ป.ป.ช.

 

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงาน ป.ป.ช. จัดประชุมมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการซักซ้อมการรายงานผลและการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ รวมทั้ง เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ มีการสอบถาม แลกเปลี่ยน เรียนรู้ รูปแบบ และแนวทางการดำเนินงาน เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชน และเสริมความเชื่อมั่นต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องประชุม 3301 อาคาร 3 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนนนทบุรี

 

ประเด็นหรือเรื่องในการประชุม

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงพร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อสร้างการรับรู้ และเสริมความเชื่อมั่นต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ดังนี้

  1. ต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้มอบหมายให้โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ร่วมขับเคลื่อนงานด้านการสร้างการรับรู้ในระดับพื้นที่เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ ผลงาน เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและมีส่วนร่วมในการแก้ไขหรือป้องกันการทุจริตได้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยกระดับความเชื่อมั่นต่อสำนักงาน ป.ป.ช. และแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์สำนักงาน ป.ป.ช. ผ่านโครงการรณรงค์สร้างกระแสต่อต้านการทุจริต
  2. ทิศทางการขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์มุ่งเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องสินบนและการขัดกัน แห่งผลประโยชน์ รวมทั้งสื่อสารผลงานที่สะท้อนการทำงานของบุคลากรสำนักงาน ป.ป.ช. ว่ามีหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ส่งผลให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง และแจ้งเบาะแสการทุจริตมากขึ้น
  3. แนวทางขับเคลื่อนแผนความเชื่อมั่นฯ และโครงการรณรงค์สร้างกระแสต่อการทุจริตฯ พร้อมทั้ง การรายงานผลการดำเนินงาน
  4. การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในแต่ละเดือนเพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่จะมีการสำรวจความเชื่อมั่นฯ

 

สรุปข้อมูลของผู้เข้าร่วมการประชุม

ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก/ สถาบัน/ กลุ่ม/ หัวหน้ากลุ่ม และเจ้าหน้าที่ หน่วยงานส่วนกลาง รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 3 - 4/ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 1 - 2 และ 5 - 9/ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 307 คน ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์

ผลจากการมีส่วนร่วม คาดหวังให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ รับทราบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ในทิศทางทางเดียวกัน และสามารถไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงาน ตลอดจนสำนักสื่อสารองค์กร ยังได้รับทราบปัญหา อุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะในการดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งจัดทำรวบรวมสรุปประเด็นต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้มีประสิทธิภาพต่อไป

Related