Contrast
Font
ac5e34742bf30ceef8cf125001905342.jpg

ป.ป.ช. ให้คำแนะนำ "วิธีการเขียนคำกล่าวหา แจ้งเบาะแส ร้องเรียนการกระทำความผิด" พร้อมชวนประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตา ไม่เพิกเฉยต่อการทุจริต

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 3171

24/05/2566

        ป.ป.ช. สร้างความตระหนัก คนไทย “ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริต” พบเห็นการทุจริต แจ้งเรื่องมายัง ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบ และดำเนินการตามขั้นตอน พร้อมให้คำแนะนำ วิธีการเขียนคำกล่าวหา แจ้งเบาะแส ร้องเรียนการกระทำความผิด เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินการกับผู้กระทำทุจริต พร้อมย้ำ ป.ป.ช. ทำงานจริงจังเพื่อต้านทุจริต ปราบโกง

        นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า การร้องเรียนแจ้งเบาะแสการทุจริตในหลายครั้งพบว่า ผู้ร้องเรียนไม่เข้าใจกระบวนการในการแจ้งเรื่องมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เนื่องจากเกรงขั้นตอนที่ยุ่งยาก หรือกลัวการถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและเกิดความไม่ปลอดภัย ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้อำนวยความสะดวกในการแจ้งข้อมูลเบาะแสการทุจริตดังกล่าว โดยเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนในหลายช่องทาง ทั้งในรูปแบบการเข้ามาร้องเรียนด้วยตนเอง หรือส่งมาเป็นเอกสารหรือผ่านช่องทางออนไลน์ของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยข้อมูลของผู้ร้องเรียนจะถูกเก็บเป็นความลับ

        นอกจากนี้ พลเมืองดีผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตยังมีข้อสงสัยในวิธีการเขียนคำร้องเรียน คำกล่าวหา หรือการแจ้งเบาะแส ว่าต้องมีรายละเอียดใดบ้างเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการร้องมากที่สุด ซึ่งพฤติการณ์ที่พบบ่อยของการทุจริตในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาทิ การกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่, การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา, ร่ำรวยผิดปกติ, จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย, ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง, การจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือการจัดสรรงบประมาณอันมีพฤติการณ์แห่งการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญตามมาตรา 144 และการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น

"การจดทำคำกล่าวหา การแจ้งเบาะแส การร้องเรียนการกระทำความผิด" ควรมีรายละเอียดที่สำคัญที่จะบอกให้สำนักงาน ป.ป.ช. ทราบได้ว่า “ผู้กระทำความผิดคือใคร และกระทำทุจริตอย่างไร” โดย

  1. หากเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม จะต้องระบุว่า...การกระทำความผิดเกิดขึ้นเมื่อใด มีขั้นตอนหรือรายละเอียดการกระทำความผิดอย่างไร มีพยานบุคคลรู้เห็นเหตุการณ์หรือไม่ (ถ้าไม่สามารถนำมาได้ ให้ระบุว่า ใครเป็นผู้เก็บรักษา และในเรื่องนี้ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานใด หรือยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อใด และผลเป็นประการใด)
  2. หากเป็นการกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ จะต้องระบุว่า...ฐานะเดิมของผู้ถูกร้องเรียน และภรรยาหรือสามี รวมทั้ง บิดา มารดา ของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างไร ผู้ถูกร้องเรียนและภรรยาหรือสามี มีอาชีพอื่น ๆ หรือไม่ (ถ้ามีอาชีพอื่นแล้วมีรายได้มากน้อยเพียงใด) มีทรัพย์สินที่จะแสดงให้เห็นว่าร่ำรวยผิดปกติ มีอะไรบ้าง

        โดยสรุป การจัดทำคำร้องเรียนควรต้องมีการระบุพฤติการณ์การทุจริตที่มีความชัดเจนมากเท่าที่ผู้แจ้งเบาะแสจะสามารถทราบได้ เช่น ชื่อผู้ที่ถูกร้อง และพยานหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อให้ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่แล้ว ดังนั้น ขอให้พลเมืองดีที่ประสงค์ให้ข้อมูลเบาะแสการทุจริตอย่าได้กังวลเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานที่ตนไม่ทราบข้อมูล หรือกังวลเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารร้องเรียน ขอเพียงเข้ามาติดต่อที่สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ก็พร้อมที่จะดำเนินการต่อไป นายนิวัติไชยกล่าวทิ้งท้าย

        ทั้งนี้ การร้องเรียน การชี้ช่องแจ้งเบาะแส และการเปิดเผยข้อมูล จะต้องไม่เป็นเท็จ หรือกระทำเพื่อการกลั่นแกล้ง เพราะหากผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ โดยจงใจให้บุคคลใดให้ถูกไต่สวน ให้ได้รับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Related