จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1313
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2561 ในมาตรา 4 ได้บัญญัติไว้ “คณะกรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ซึ่งบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น ต้องมีคุณสมบัติดังความในมาตรา 9 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการจำนวนเก้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหา โดยคณะกรรมการสรรหา ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด (ข้อมูลเพิ่มเติม มาตรา 9 (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) มาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2561)
เหล่านี้ คือคุณสมบัติของ “คณะกรรมการ ป.ป.ช.”
แล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่อะไรบ้าง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 นั้น ได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ในหลายมาตรา (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในหนังสือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 และระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง)
แต่ที่จะพูดถึงคือมาตรา 32 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
มาตรา 32 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ในเรื่องดังต่อไปนี้
หน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
ในการจัดทำมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เมื่อองค์กรตามวรรคหนึ่งได้รับแจ้งมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วหากเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรค ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน มาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ กรณีปัญหาการบุกรุกและการใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าไม้ และข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.nacc.go.th)
เป็นที่น่าสนใจไม่น้อยกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการให้ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับประเด็นการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาล ที่ต้องใช้งบประมาณสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของประเทศ และที่สำคัญคือการสร้างภาระทางการคลังในระยะยาว เนื่องจากจะมีการกู้เงินจำนวนมากถึง 500,000 ล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในประเด็นนี้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล จึงได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลในกรณีดังกล่าว เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ โดยได้มีการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง จากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จากส่วนราชการและหน่วยงาน ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.nacc.go.th)
อย่างไรก็ตาม 8 ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับประเด็นการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งไว้นั้น คือข้อเสนอแนะ ไม่ได้ทำเกินหน้าที่แต่อย่างใด หากแต่เป็นการทำงานด้านการป้องกันการทุจริตเชิงรุก ทำตามหน้าที่และอำนาจ ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ได้บัญญัติไว้
หลังจากที่ได้รับข้อเสนอแนะ รัฐบาลยังมีเวลา และจะดำเนินการอย่างไรให้มีความเหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด
...............................................................................
อ้างอิง : หนังสือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง