จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 368
ป.ป.ช. ย้ำ “สินบนบ่อนทำลายชาติเจริญ” พบเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิด เรียก-รับ ไม่ปล่อยผ่าน
สำนักงาน ป.ป.ช. คุมเข้มเจ้าหน้าที่รัฐ “ไม่รับสินบน” พร้อมสร้างความตระหนักภาคเอกชน “งดจ่าย” มีความผิดตามกฎหมาย เผย สินบนคือต้นตอทุจริตทำลายชาติ ย้ำ หากพบหลักฐานการกระทำผิดกรณีรับสินบน ไม่ปล่อยผ่าน ดำเนินคดีจนถึงที่สุด
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สินบนเป็นการทุจริตที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างยิ่ง เพราะทำให้เม็ดเงินงบประมาณที่ควรจะนำมาสู่การพัฒนาประเทศ ต้องถูดตัดทอนเอื้อประโยชน์ให้ผู้กระทำผิด และปัจจุบันปัญหาสินบนมาในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่เพียงแต่การจ่ายสินบนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ยังพบกรณีเรียกรับสินบนในลักษณะขู่ รีดไถ เพื่ออำนวยความสะดวกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งกรณีดังกล่าวเปรียบได้กับ “การปล้นประชาชน” ดังเช่นที่เห็นเป็นข่าว กรณีจับขบวนการนายช่างโยธา กทม. เรียกรับสินบนแก้แบบถนนไม่ให้ตัดผ่านสนามกอล์ฟ ยึดทรัพย์สินกว่า 40 ล้านบาท หรือกรณีจับกุม "อัยการ" พร้อมเงินของกลาง 1.5 แสนบาท หลังมีพฤติการณ์เรียกรับเงินวิ่งเต้นเคลียร์คดี เหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น และควรมีการสร้างความตระหนักให้กับเจ้าหน้าที่รัฐควรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อมิให้เกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ทับซ้อนและเป็นกฎหมายที่ป้องปรามการกระทำความผิดในเรื่องของ “สินบน” และลักษณะที่เข้าข่ายการรับสินบน อาทิ “เงินแป๊ะเจี๊ยะ” หมายถึง เงินกินเปล่า มักใช้ในการให้สินบนในวงการการศึกษา เช่น การให้เงินเพื่อฝากบุตรหลานเข้าโรงเรียนดังหรือได้เข้าเรียนในห้องเก่ง ห้องพิเศษ “เงินใต้โต๊ะ” หมายถึง เรียกเงินที่แอบให้กันโดยมิชอบ เพื่อจูงใจหรือตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการอนุมัติ อนุญาต หรือการเร่งรัดในการดำเนินงาน เช่น จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อได้รับการอนุญาตก่อสร้าง “ส่วย” หมายถึง เกิดจากการสมัครใจตกลงกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อปล่อยให้ผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ “สินน้ำใจ” หมายถึง “เงินหรือทรัพย์ที่ให้เป็นรางวัล” เช่น กรณีเจ้าหน้าที่รับของขวัญมูลค่าเกิน 3000 บาท ที่เอกชนมอบให้เป็นสินน้ำใจหลังได้รับเลือกชนะการประมูลงาน
พฤติการณ์เหล่านี้จะเป็นลักษณะการกระทำที่เข้าข่ายการรับสินบน หากเจ้าหน้าที่กระทำจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งหากประชาชนพบเห็นเบาะแสทุจริต สามารถร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแส และส่งหลักฐานมาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้หลายช่องทาง หรือสามารถร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยเข้าสู่ระบบ “ร้องเรียน Online” โดยตรงได้ที่ www.nacc.go.th/member/login ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
พร้อมเน้นย้ำ ข้อมูลผู้แจ้งเป็นความลับ ขอความร่วมมือคนไทยร่วมด้วยช่วยกันเป็นหูเป็นตา สร้างแนวร่วมป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสังคมไทย