Contrast
Font
a9502a3d5d8c00d2faee649e639e9b1d.jpg

ป.ป.ช. อยุธยา ขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตฯ หล่อหลอมวัฒนธรรมสุจริต

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 153

22/08/2567

ป.ป.ช. อยุธยา ขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตฯ หล่อหลอมวัฒนธรรมสุจริต

 

สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และคณะทำงานขับเคลื่อนแพลตฟอร์มต้านทุจริตศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อปลุกจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดี มีวัฒนธรรมสุจริต พร้อมเผยมติรับรองผลการมอบรางวัลสถานศึกษาที่ขับเคลื่อนหลักสูตรต้านฯ และหน่วยงานภาครัฐที่ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มต้านทุจริตศึกษา

 

นายปริญญา  วิกุลศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และภาคเอกชน แปลงแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ สู่การปฏิบัติ โดยกระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนแผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป้าหมายให้ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต โดยมีตัวชี้วัด 3 ด้าน คือ 1) ร้อยละของเด็กและเยาวชนไทย มีพฤติกรรมที่ยึดมั่น ความซื่อสัตย์สุจริต 2) ร้อยละของประชาชน มีวัฒนธรรมค่านิยมสุจริต มีทัศนคติ และพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 3) ร้อยละของหน่วยงาน ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาในแพลตฟอร์มออนไลน์ ขับเคลื่อนสู่การนำไปศึกษาเรียนรู้ ในหน่วยงาน หรือสถานศึกษา เพื่อปลูกและปลุกจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดี มีวัฒนธรรมสุจริต การปลูกฝัง และหล่อหลอมวัฒนธรรม ในกลุ่มเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัย ทุกระดับ

 

ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และคณะทำงานขับเคลื่อนแพลตฟอร์มต้านทุจริตศึกษา ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งที่ประชุมรับทราบรายงานการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาและรายงานผลการใช้แพลตฟอร์มต้านทุจริตศึกษา และที่ประชุมมีมติรับรองผลการมอบรางวัลสถานศึกษาที่ขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และหน่วยงานภาครัฐที่ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มต้านทุจริตศึกษา ดังนี้

  1. รางวัลขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา โดยเปิดเป็นรายวิชาเพิ่มเติม จำนวน 111 รางวัลแบ่งเป็นระดับต้นแบบ จำนวน 12 แห่ง ระดับยอดเยี่ยม จำนวน 10 แห่ง และระดับดีเด่น จำนวน 89 แห่ง
  2. รางวัลขับเคลื่อนหลักสูตรฯ โดยการใช้แพลตฟอร์มต้านทุจริตศึกษา จำนวน 113 รางวัล แบ่งเป็น ระดับต้นแบบ จำนวน 16 แห่ง ระดับยอดเยี่ยม  จำนวน 89 แห่ง ระดับดีเด่น จำนวน 8 แห่ง

จะเห็นได้ว่า มีหน่วยงานภาครัฐ และสถานศึกษาในพื้นที่ที่ให้การตอบรับ และนำไปปรับใช้ในกระบวนการเรียนการสอนอย่างจริงจังในหลายแห่ง นับว่าเป็นทิศทางที่ดีในการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการปลูกฝังค่านิยมไม่ทนต่อการทุจริต ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยให้ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันได้ในอนาคต

Related