Contrast
Font
1216d4b4d931c4a8879a8e5740bb6f5e.jpg

ผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริตก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 483

13/01/2568

          การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่กลับเข้าไปมีส่วนได้เสียกับกิจกรรมหรือการดำเนินการที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับคน หรือพวกพ้องแทน ทำให้การใช้อำนาจหน้าที่เป็นไปโดยไม่สุจริตก่อให้เกิดผลเสียต่อภาครัฐ ประชาชน และประเทศชาติ

          การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมมีได้หลายรูปแบบไม่จำกัดอยู่เฉพาะ ในรูปแบบของตัวเงิน หรือทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงผลประโยชน์อื่น ๆ ด้วย รูปแบบของการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม แบ่งออกเป็น 10 รูปแบบ คือ

          1) การรับผลประโยชน์ต่าง ๆ (Accepting benefits) ซึ่งผลประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินของขวัญ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม สิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกันนี้ และผลจากการรับผลประโยชน์ต่าง ๆ นั้น ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

          2) การทำธุรกิจกับตนเอง (Self - dealing) หรือเป็นคู่สัญญา (Contracts) เป็นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานที่ตนสังกัด โดยอาจจะเป็นเจ้าของบริษัทที่ทำสัญญาเองหรือเป็นของเครือญาติ สถานการณ์เช่นนี้เกิดบทบาทขัดแย้งหรือเรียกได้ว่าเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย   ในเวลาเดียวกัน

          3) การทำงานหลังจากออกจากตำแหน่งหน้าที่สาธารณะหรือหลังเกษียณ (Post -employment) เป็นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐลาออกจากหน่วยงานของรัฐ และไปทำงานในบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือบริษัท ที่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานเดิม โดยใช้อิทธิพลหรือความสัมพันธ์จากที่เคยดำรงตำแหน่งในหน่วยงานเดิมนั้นหาประโยชน์จากหน่วยงานให้กับบริษัทและตนเอง

          4) การทำงานพิเศษ (Outside employment or moonlighting) ในรูปแบบนี้มีได้หลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งบริษัทดำเนินธุรกิจ ที่เป็นการแข่งขันกับหน่วยงาน หรือองค์การสาธารณะ ที่ตนสังกัดหรือการรับจ้างพิเศษเป็นที่ปรึกษาโครงการโดยอาศัยตำแหน่งในราชการสร้างความน่าเชื่อถือว่า โครงการของผู้ว่าจ้างจะไม่มีปัญหาติดขัดในการพิจารณาจากหน่วยงานที่ที่ปรึกษาสังกัดอยู่

          5) การรู้ข้อมูลภายใน (Inside information) เป็นสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ประโยชน์จากการที่ตนเองรับรู้ข้อมูลภายในหน่วยงาน และนำข้อมูลนั้นไปหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้อง อาจจะไปหาประโยชน์โดยการขายข้อมูลหรือเข้าเอาประโยชน์เสียเอง

          6) การใช้ทรัพย์สินของราชการเพื่อประโยชน์ธุรกิจส่วนตัว (Using your employer’ s property for private advantage) เป็นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนำเอาทรัพย์สินของราชการซึ่งจะต้องใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการเท่านั้นไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้องหรือการใช้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำงานส่วนตัว

          7) การนำโครงการสาธารณะลงในเขตเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง (Pork - barreling) เป็นการที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้บริหารระดับสูงอนุมัติโครงการไปลงพื้นที่หรือบ้านเกิดของตนเองหรือการใช้งบประมาณสาธารณะเพื่อหาเสียง

          8) การใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์แก่เครือญาติหรือพวกพ้อง (Nepotism) หรืออาจจะเรียกว่า ระบบอุปถัมภ์พิเศษ เป็นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อิทธิพลหรือใช้อำนาจหน้าที่ทำให้หน่วยงานของตน เข้าทำสัญญา    กับบริษัทของพี่น้องของตน

          9) การใช้อิทธิพลเข้าไปมีผลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐอื่น (influence) เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองหรือพวกพ้อง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่ข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาให้หยุดทำการตรวจสอบบริษัทของเครือญาติของตน

          10) ผลประโยชน์ทับซ้อนรูปแบบอื่น ๆ คือพฤติการณ์ของการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมที่นอกเหนือจาก 9 รูปแบบดังกล่าว

           แนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นแก้ไขที่ตัวบุคคล โดยการปรับเปลี่ยนระบบการคิดของคนในสังคม ต้องแยกแยะให้ได้ว่า “เรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนตน...เรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนรวม” ต้องแยกออกจากกันให้ได้อย่างเด็ดขาด ไม่นำมาปะปนกัน หากเกิดกรณีผลประโยชน์ขัดกันต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องกระทำการหรือใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับประโยชนส่วนรวม หากปล่อยให้มีผลประโยชน์ส่วนตน หรือความสัมพันธ์ส่วนตนเข้ามามีส่วน ในการตัดสินใจแล้ว ย่อมเกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชนทับซ้อน (Conflict of Interests) ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ

 

-----------------------------------------

 

Related