จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 48
ป.ป.ช. เชิญชวนภาคเอกชน สมัครเข้าร่วมการประเมิน ITAGC ประจำปี พ.ศ. 2568
การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชน ที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment of Government Contractors) หรือ ITAGC (ไอ-แทค) เป็นเครื่องมือการป้องกันการทุจริตเชิงรุกที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ศึกษาและพัฒนาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนให้เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐที่ดี มีแนวทางการต่อต้านการให้สินบนที่เหมาะสม ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบการเป็นคู่ค้าคู่สัญญาภาครัฐอย่างเคร่งครัด ปราศจากการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม การให้ทรัพย์สินและประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างหน่วยงานภาคเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการไม่ให้ไม่รับ เพื่อเป็นฐานในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ซึ่งผลการประเมินที่ได้จะช่วยให้หน่วยงานภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และขณะเดียวกันการประเมิน ITAGC ยังเป็นเครื่องมือในการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานภาคเอกชน และเป็นการประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน เพื่อให้องค์กรธุรกิจได้ทราบถึงช่องว่างของความไม่เป็นธรรมและความด้อยประสิทธิภาพ โดยสามารถนำไปจัดทำแนวทางมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อยกระดับมาตรฐานนำไปสู่การป้องกันการทุจริตเชิงรุก และช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศผ่านอันดับการรับรู้การทุจริตหรือ Corruption Perception Index (CPI) อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับกรอบการประเมิน ITAGC 2025 แบ่งเป็นเครื่องการประเมิน 4 เครื่องมือ ได้แก่
เครื่องมือที่ 1 แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment of Government Contractors: ITAGC-I) คะแนนรวม 25 คะแนน
แหล่งข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหาร พนักงาน (ด้านการขาย ด้านการตลาด ด้านการเงิน การบัญชี) และอื่น ๆ
เครื่องมือที่ 2 แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment of Government Contractors 1: ITAGC-E1) คะแนนรวม 25 คะแนน
แหล่งข้อมูล ได้แก่ เจ้าหน้าที่ผู้เป็นเจ้าของโครงการ/ผู้ดำเนินโครงการหรือผู้ประสานงาน บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนต่าง ๆ
โดย ITAGC-I และ ITAGC-E1 ประกอบด้วยตัวชี้วัด 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) การต่อต้านการให้สินบน 2) การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบการเป็นคู่ค้าสัญญาภาครัฐ 3) การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม 4) การให้ทรัพย์สินและประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างหน่วยงานภาคเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ และ 5) การส่งเสริมวัฒนธรรมการไม่ให้ไม่รับ
เครื่องมือที่ 3 แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment of Government Contractors 2: ITAGC-E2) คะแนนรวม 25 คะแนน
แหล่งข้อมูล ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรมบัญชีกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และภาคีเครือข่ายของสำนักงาน ป.ป.ช.
ประกอบด้วยประเด็น ดังนี้ 1) กรณีร้องเรียน ไต่สวน หรือชี้มูลการทุจริตในประเด็นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหน่วยงาน 2) กรณีร้องเรียน ไต่สวน หรือชี้มูลการทุจริตในประเด็นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานคู่สัญญา ของโครงการ 3) รายชื่อผู้ทิ้งงาน 4) ทะเบียนการประกอบธุรกิจที่ถูกต้องสอดคล้องกับฐานข้อมูล 5) ความสามารถ ในการประกอบกิจการและดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง เช่น การเสียภาษี 6) ความเหมาะสมต่อการดำเนินโครงการกับหน่วยงานภาครัฐและสถานที่ประกอบการมีอยู่จริง และ 7) ทะเบียนที่ปรึกษา
เครื่องมือที่ 4 แบบตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment of Government Contractors: ITAGC-O) คะแนนรวม 25 คะแนน
แหล่งข้อมูล ได้แก่ เว็บไซต์หลักของหน่วยงานภาคเอกชน และเพจ Facebook
โดยตัวชี้วัด ประกอบด้วยตัวชี้วัด 6 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ข้อมูลพื้นฐาน 2) นโยบายและความมุ่งมั่นของฝ่ายบริหาร 3) ข้อมูลผลดำเนินงาน 4) ข้อมูลงบการเงิน 5) การจัดการความเสี่ยงต่อการให้สินบน และ 6) การร้องเรียนและรายงานเหตุเกี่ยวกับการให้สินบน