จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 120
“กลไกสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต”
ความพยายามต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยเกิดขึ้นมาหลายสิบปี โดยผลการสำรวจดัชนี การรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2566 จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ 90 คะแนน จัดเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ ประเทศเดนมาร์ก, อันดับ 2 ของโลกได้ 87 คะแนน คือ ประเทศฟินแลนด์ อันดับ 3 ของโลกได้ 85 คะแนน คือ ประเทศนิวซีแลนด์ ในขณะที่ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน อย่างไรก็ดีเกือบทศวรรษแล้ว ที่ภาคธุรกิจรวมตัวกันก่อตั้งองค์กรต่อต้าน คอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อเป็นแกนหลักในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน และมีส่วนสร้างความตื่นตัวในภาคประชาชน สื่อมวลชน จนเกิดกระแส "ต้านโกง" ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หนักแน่นขึ้นจนเป็นพลังสำคัญและทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า นี่คือความหวังของไทยในการขจัดปัญหานี้ได้ในอนาคต
สถานการณ์และพัฒนาการคอร์รัปชันในไทย
การคอร์รัปชันของไทยยังอยู่ในขั้นวิกฤต แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปเมื่อดูจากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศคือ คอร์รัปชันขนาดเล็ก ซึ่งหมายถึง การเรียกรับสินบนจากประชาชนที่ไปติดต่อส่วนราชการลดลง แต่ที่เพิ่มขึ้นคือ คอร์รัปชันขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มเหมือนกันทั่วโลก กล่าวคือ คอร์รัปชันขนาดกลางคือ การที่คนติดต่อส่วนราชการในระดับธุรกิจถูกเรียกเงินใต้โต๊ะมากขึ้น และคอร์รัปชันขนาดใหญ่ หรือคอร์รัปชัน เชิงนโยบายที่คนใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือให้พวกพ้องของตัวเองได้เปรียบคนอื่น"
ปัจจัยที่ทำให้คอร์รัปชันฝังรากลึกในสังคมไทย
การที่คอร์รัปชันฝังรากลึกในสังคมไทยมาจากหลายปัจจัยที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างจริงจังได้แก่ (1) Mindset แบบระบบอุปถัมภ์ การให้ความสำคัญกับคนร่ำรวยหรือคนมีอำนาจที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง (2) ระบบราชการที่เป็นจุดตั้งต้นการคอร์รัปชันไม่เคยมีการปฏิรูปกันมานาน ขาดความโปร่งใส ทำอะไรก็ตรวจสอบไม่ได้ (3) กฎหมายจำนวนมากเปิดโอกาสให้ข้าราชการใช้ดุลพินิจ และเป็นช่องทางคอร์รัปชัน (4) การขาดกลไกปกป้องคุ้มครองประชาชนที่พยายามต่อสู้ที่จะไม่จ่ายสินบน หรือเปิดโปงการทุจริต และ (5) การเอาผิดคนโกงทำได้ยาก เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ หรือมีการช่วยเหลือกัน เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้เรื่องที่สามารถเอาผิดลงโทษได้มีไม่ถึงร้อยละ 5 ของเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในมือของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีไม่ถึงร้อยละ 5 ของจำนวนเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ที่สำคัญ ในภาคการเมืองผู้นำประเทศไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนและจริงจังว่าเขารังเกียจการโกง และจะเล่นงานคนโกงอย่างเท่าเทียมไม่เลือกหน้า
"สุดท้ายคอร์รัปชันที่เคยจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ ทุกวันนี้ได้กระจายไปสู่ทุกกลุ่มในสังคม เพราะมีแบบอย่าง ให้เห็นว่า เมื่อผู้ใหญ่ระดับสูงทำกัน ทำให้ข้าราชการระดับรองลงมาก็ทำ เมื่อข้าราชการทำ พ่อค้าก็ทำได้ พระสงฆ์ก็ทำได้ นักการเมืองท้องถิ่นก็ทำได้ ดังนั้น ชาวบ้านเมื่อมีโอกาส เขาจึงโกงเพื่อความสุขสบายของตัวเอง จึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้เราจะเห็นคนทุกอาชีพเป็นข่าวที่เกี่ยวพันกับการโกง"
ผลของคอร์รัปชันที่กระจายตัวในทุกกลุ่มในสังคม
“ภาคเศรษฐกิจ” แทนที่นักธุรกิจจะแข่งขันกันเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เมื่อเขาเรียนรู้ว่า สภาพแวดล้อมในระบบเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยต่อการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ทุกคนก็จะหาช่องทางเพื่อให้ตัวเองได้งาน ได้ผลประโยชน์มากขึ้นเกินกว่าปกติ ถ้าวันนี้ประเทศไทยยืนอยู่เพียงประเทศเดียว เราจะเดินหน้าไปอย่างพิการแบบนี้ แต่ความจริงเราต้องแข่งขันในระดับโลก การที่เราไม่พัฒนาศักยภาพตัวเอง ความสามารถในการแข่งขันของไทยจึงถดถอยลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
“ภาคประชาชน” การที่สังคมไม่เป็นธรรม เราจึงเห็นความแตกแยกในสังคม สุดท้ายประชาชนรับต้นทุนที่หนักกว่าเงิน และถ้าเราไม่ทำอะไรเลย นับวันสิ่งเหล่านี้ มีแต่จะเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ
ปัจจัยที่ทำให้ทัศนคติคนไทยดีขึ้น
หลายปีที่ผ่านมาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันพยายามรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชน ผ่านสื่อต่าง ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็พยายามขุดคุ้ยพฤติกรรมการโกงให้เห็น และ Social Media ช่วยขยายผล ได้มาก นอกจากนี้ งานวิชาการที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและวัดขนาดความเสียหายได้รับการสนับสนุนมากขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่รังเกียจคอร์รัปชันมากขึ้นคือ พวกเขาได้สัมผัสความไม่เป็นธรรมด้วยตัวเอง และเรียนรู้ว่าเศรษฐกิจที่มีปัญหาทุกวันนี้ เพราะทุกคนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกัน
บทบาทองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
สำหรับประเทศไทย นอกจากการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตหลายองค์กร เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และมีตัวบทกฎหมายมากมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดทุจริตคอร์รัปชันแล้วนั้น ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนยังถือเป็นส่วนสำคัญเพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ดังเช่น การจัดตั้งโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand's Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption “CAC”) ที่ได้รับการสนับสนุนการจัดทำโดยรัฐบาลและสำนักงาน ป.ป.ช. และดำเนินการโดยความร่วมมือของ 8 องค์กรชั้นนำ อันได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หอการค้าไทย หอการค้านานาชาติ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การสร้างให้มีเครือข่ายที่มองเห็นปัญหานี้ และร่วมลงมือกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมากขึ้น ด้วยการ “ปลูกฝัง-เปิดโปง-ป้องกัน” ในเรื่องการปลูกฝังผ่านการรณรงค์ให้ความรู้กับสังคม และการเปิดโปง เพื่อกระตุ้นให้มีการปราบปรามอย่างจริงจังเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างบางอย่าง เช่น มีกฎหมายที่จะลดปัจจัยในการทุจริต หรือกฎหมายที่จะทำให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลของรัฐ สู่สาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงกฎหมายหรือนโยบายของรัฐที่จะทำให้ประชาชนมีสิทธิและมีบทบาทเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทำอย่างไรให้ทุกคนเชื่อว่า การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน