Contrast
Font
d7f33012a67d48b6ef514e07a1783bf0.jpg

อัปเดตกฎหมาย "คู่สมรส" ใครบ้างต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 310

27/03/2568

อัปเดตกฎหมาย "คู่สมรส" ใครบ้างต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

           การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ โดยเฉพาะ เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความเท่าเทียมกันในสังคม

           พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 ได้มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำจาก “ชาย” และ “หญิง” เป็น “บุคคล” รวมถึงแทนที่คำว่า “สามี” หรือ “ภรรยา” ด้วยคำว่า “คู่สมรส” เพื่อให้ครอบคลุมทุกเพศที่สมรสกันตามกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลโดยตรงต่อการกำหนดผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดย “คู่สมรส” ในที่นี้หมายถึงบุคคลสองคนที่สมรสกันตามเงื่อนไขของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม

           นอกจากคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้กำหนดให้ “ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส” ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเช่นกัน หากมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายตามที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับที่ 2 พ.ศ. 2568 ได้แก่ การจัดพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดที่มีบุคคลภายนอกรับรู้ หรือการที่เจ้าพนักงานของรัฐมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นคู่สมรส ทั้งนี้ยังรวมถึงบุคคลที่เคยจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่าแล้ว แต่ยังมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่ามีสถานะเป็นคู่สมรสอยู่


ใครบ้างที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
เจ้าพนักงานของรัฐที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้แก่
           • ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา) รวมถึงข้าราชการการเมืองอื่นเว้นแต่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
           • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการ ฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป, ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองขึ้นไป และข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป
           • ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ให้หมายรวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
           • ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
           • ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
           • เจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

           บุคคลที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีจะต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส (รวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส) และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ครบถ้วน ถูกต้อง และตรงตามระยะเวลาที่กำหนด


วิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

           การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินสามารถทำได้สามช่องทาง ได้แก่ การยื่นด้วยตนเองได้ที่สำนักงาน ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด หรือส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และการยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์โดยต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. พัฒนาระบบรองรับการยื่นบัญชีออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ยื่นแล้ว

           เจ้าพนักงานของรัฐที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับจากวันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน สำหรับกรณีที่มีเหตุจำเป็นสามารถขอขยายเวลายื่นบัญชีได้ โดยแจ้งเหตุผลและความจำเป็นภายในระยะเวลาที่กำหนด


บทลงโทษเกี่ยวกับการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

           หากเจ้าพนักงานของรัฐจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์ไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน อาจถูกดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง หรือแม้กระทั่งถูกดำเนินคดีอาญาด้วย

           การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตในภาครัฐ กฎหมายใหม่ที่ให้ความหมายของ "คู่สมรส" ครอบคลุมทุกเพศ และกำหนดให้ผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้ จดทะเบียนสมรสต้องยื่นบัญชีด้วย เป็นอีกก้าวสำคัญของการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันเจ้าพนักงานของรัฐที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงตามระยะเวลา เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Related