Contrast
Font
95fe47e858563d8a4d8ffab89f974928.jpg

ป.ป.ช. จัดอบรมเข้มภาคเอกชน ป้องกันการให้สินบน มุ่งเสริมสร้างมาตรการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 183

31/03/2568

ป.ป.ช. จัดอบรมเข้มภาคเอกชน ป้องกันการให้สินบน มุ่งเสริมสร้างมาตรการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ

          เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดกิจกรรมการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคเอกชนในการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการให้สินบน ประกอบด้วย 2 หลักสูตร ได้แก่ “หลักสูตรการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ” และ “หลักสูตรมาตรการเกี่ยวกับกรณีมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบน และการนำมาตรการป้องกันการให้ สินบนไปปรับใช้กับผู้มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับนิติบุคคล” และมีการมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้าร่วมอบรม (Certificate of Attendant) ที่เข้าอบรมครบถ้วนตามกรอบระยะเวลาของหลักสูตร ณ ห้องบอลรูม 2 ชั้น 2 โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมฯ ประกอบด้วย ภาคเอกชนที่เป็นคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง รวมจำนวน 160 คน โดยได้รับเกียรติจากนายเจษฎา ช.เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ เลขานุการคณะกรรมการกํากับการบริหารความเสี่ยง และประธานอนุกรรมการกํากับการบริหารความเสี่ยง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรบรรยายและถ่ายทอดความรู้ ทั้ง 2 หลักสูตร ดังกล่าว

          สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้มีบทบัญญัติมาตรา 176 กำหนดความรับผิดสำหรับบุคคลที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งกำหนดความรับผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ค.ศ. 1997 (OECD) ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานะเป็นประเทศผู้สมัครซึ่งอยู่ในกระบวนการ  เข้าเป็นสมาชิกของ OECD (Accession candidate country) โดย OECD      ได้กำหนดให้ประเทศที่จะเข้าเป็นสมาชิกของ OECD จะต้องเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ (OECD Anti-Bribery Convention) ด้วย

          เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดทำคู่มือแนวทางกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าพนักงาน ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 8 หลักการ เพื่อเป็นแนวทางให้กับนิติบุคคลในการกำหนดมาตรการป้องกันการให้สินบนอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย

          หลักการที่ 1 การป้องกันการให้สินบนต้องเป็นนโยบายสำคัญจากระดับบริหารสูงสุด

          หลักการที่ 2 นิติบุคคลต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ

          หลักการที่ 3 มาตรการเกี่ยวกับกรณีมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบนต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน

          หลักการที่ 4 นิติบุคคลต้องนำมาตรการป้องกันการให้สินบนไปปรับใช้กับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับนิติบุคคล

          หลักการที่ 5 นิติบุคคลต้องมีระบบบัญชีที่ดี

          หลักการที่ 6 นิติบุคคลต้องมีแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการให้สินบน

          หลักการที่ 7 นิติบุคคลต้องมีมาตรการสนับสนุนให้มีการรายงานการกระทำความผิดหรือกรณีมีเหตุน่าสงสัย

          หลักการที่ 8 นิติบุคคลต้องตรวจสอบและประเมินผลการใช้มาตรการป้องกันการให้สินบนเป็นระยะ

          ในการนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมให้นิติบุคคลไทย หรือนิติบุคคลต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย นำคู่มือแนวทางกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนฯ ไปปรับประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำนักงาน ป.ป.ช. จึงจัดให้มี “กิจกรรมการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนในการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม  เพื่อป้องกันการให้สินบน” ประกอบด้วย 7 หลักสูตร โดยแต่ละหลักสูตรถ่ายทอดมาจากหลักการ ทั้ง 8 ประการของคู่มือแนวทางกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการให้สินบนฯ ตามมาตรา 176 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย

  1. หลักสูตรนโยบายป้องกันการให้สินบนจากระดับบริหารสูงสุดและนำไปสู่การปฏิบัติในองค์กร ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568
  2. หลักสูตรการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ และ
  3. หลักสูตรมาตรการเกี่ยวกับกรณีมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบนและการนำมาตรการป้องกันการให้สินบนไปปรับใช้กับผู้มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับนิติบุคคล กำลังดำเนินการอยู่ ณ ขณะนี้ (วันที่ 28 มีนาคม 2568)
  4. หลักสูตรระบบบัญชีที่ดีสำหรับนิติบุคคล กำหนดดำเนินการวันที่ 29 เมษายน 2568
  5. หลักสูตรแนวทางบริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการให้สินบน กำหนดดำเนินการวันที่ 30 เมษายน 2568
  1. หลักสูตรมาตรการสนับสนุนให้มีการรายงานการกระทำความผิดหรือกรณีมีเหตุน่าสงสัยสำหรับ นิติบุคคล และ
  2. หลักสูตรการทบทวนตรวจสอบและประเมินผลมาตรการป้องกันการให้สินบน กำหนดดำเนินการวันที่ 29 พฤษภาคม 2568

          โดยมุ่งหวังให้ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนนำความรู้ที่ได้ไปปรับประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงว่าบริษัทมีธุรกรรมใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ซึ่งอาจจะเป็นจุดที่มีการให้หรือรับสินบนระหว่างกันได้ และเมื่อวิเคราะห์เสร็จแล้ว ก็ต้องประเมินว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ถ้าเสี่ยงมาก องค์กรต้องมีการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับกรณีที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบนที่มีรายละเอียดชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการให้สินบน ตลอดจนนำนโยบาย มาตรการ ไปปรับประยุกต์กับคู่ค้าของบริษัทด้วย (Supply Chain) โดยบริษัทต้องถ่ายทอดเรื่องนี้ไปสู่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจด้วยว่า บริษัทมีนโยบาย มาตรการที่จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการให้สินบน และคู่ค้าต้องปฏิบัติตามแนวทางของบริษัทด้วยเช่นกัน

Related