จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 87
ป.ป.ช. เสริมองค์ความรู้การป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสินบน ผ่านหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ให้กับวิทยากรตัวคูณ หวังขยายผลสู่หน่วยงานและชุมชนของตนเอง
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักต้านทุจริตศึกษา จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพวิทยากรตัวคูณขยายผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสู่การสร้างพลเมืองต้านโกง (ครั้งที่ 2) โดยมี นางวาธินี สุริยวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานพิธีเปิด และนางสวรรยา รัตนราช ผู้อำนวยการสำนักต้านทุจริตศึกษา ณ โรงแรมเซ็นทารา อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดองค์ความรู้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และเน้นเรื่องการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสินบน เพื่อให้วิทยากรตัวคูณที่ผ่านการอบรมได้นำองค์ความรู้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาและการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสินบนไปขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการบูรณาการขยายผลการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสินบน อันจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางในการขยายผลของวิทยากรตัวคูณ รวมถึงการร่วมดำเนินการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้สร้างวิทยากรตัวคูณในการปลูกฝังวิธีคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายวิทยากรตัวคูณในทุกภาคส่วน และครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้วิทยากรที่ผ่านการอบรมนำองค์ความรู้ในการคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม ขยายผลไปยังประชาชนในทุกระดับ และจากการติดตามประเมินผลพบว่า ผู้ผ่านการอบรมได้มีการต่อยอดขยายผลเผยแพร่องค์ความรู้ และมีความยั่งยืนในการปรับกระบวนการคิด ผนวกกับการทบทวนองค์ความรู้เดิมให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรมและมีการนำองค์ความรู้ไปขยายผลจริง
นางวาธินี สุริยวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ถือเป็นนโยบายและเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการทุจริต โดยอาศัยความร่วมมือเพื่อนำไปสู่ “การขยายผล” โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการสร้างวิทยากรตัวคูณในการปลูกฝังวิธีคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม โดยมุ่งให้เกิดเครือข่ายวิทยากรตัวคูณให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงได้ให้ความสำคัญของวิทยากรตัวคูณในฐานะของ “ผู้นำทางความคิด” ที่จะสามารถนำองค์ความรู้ และหลักคิดหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาขยายผลต่อไปสู่เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทุกกลุ่มในสังคม ทั้งในรูปแบบของการอบรมบ่มนิสัยของผู้ปกครองในระดับครอบครัว การจัดการเรียนการสอนของครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา การจัดอบรมของหน่วยงานหรือองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม ของคนในสังคม สู่ความเป็นพลเมืองที่ไม่ทำ ไม่ทน และไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคมทุกรูปแบบ
นางสวรรยา รัตนราช ผู้อำนวยการสำนักต้านทุจริตศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพวิทยากรตัวคูณขยายผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสู่การสร้างพลเมืองต้านโกง (ครั้งที่ 2) ครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคภาครัฐวิสาหกิจ ภายในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจากส่วนกลาง รวมจำนวนทั้งสิ้น 176 คน โดยมีรายละเอียดกิจกรรม ดังนี้ ช่วงเช้า เป็นการบรรยาย หัวข้อ “ความเป็นมาของหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา สู่การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต” โดย นางสวรรยา รัตนราช ผู้อำนวยการสำนักต้านทุจริตศึกษา จากนั้น เป็นการบรรยาย หัวข้อ “การปลูกฝังวิธีคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม และการป้องกันปัญหาสินบน สู่การสร้างองค์กร/ชุมชนต้านโกง” โดยนายอุทิศ บัวศรี อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ช่วงบ่าย เป็นการอภิปรายแบ่งกลุ่มปฏิบัติการ และการอภิปรายสรุปผลการนำเสนอ ในหัวข้อ ดังนี้ 1. การประยุกต์หลักโมเดล STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต สร้างองค์กร/ชุมชนต้านโกง 2. ความอาย และไม่ทนต่อการทุจริต ยกระดับสู่ความเป็นองค์กร/ชุมชนต้านโกง 3. แนวทางการขยายผลองค์ความรู้ต้านทุจริตศึกษาสู่องค์กร/ชุมชน โดยวิทยากรกลุ่มจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักต้านทุจริตศึกษา
โดยผู้เข้าร่วมอบรมแต่ละกลุ่มได้นำเสนอผลการอภิปราย แนวทางปฏิบัติ และแผนการขยายผลองค์ความรู้สู่หน่วยงานและชุมชนของตน และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อเสนอแนะระหว่างกลุ่ม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละองค์กร สำนักงาน ป.ป.ช. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลสำเร็จสำคัญจากการอบรมครั้งนี้ จะทำให้วิทยากรตัวคูณสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเป็นแบบอย่างที่ดีและขยายผลต่อไปในหน่วยงานและชุมชนของตน เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต และสร้างพลเมืองต้านโกงอย่างยั่งยืน