จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 52
ป.ป.ช. จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อการยกระดับมาตรฐานของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หวังป้องกันปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตของโครงการก่อสร้างในหน่วยงานภาครัฐ และ อปท.
ระหว่างวันที่ 28 - 29 เมษายน 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. โดย สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต แผนงานพัฒนาแนวทางต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประเด็นระดับประเทศ ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG: Together against Corruption-TaC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนการให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อมูลกระบวนงานเชิงบูรณาการ เพื่อเป้าหมายต้านและลดความเสี่ยงต่อการทุจริต ในโครงการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป้าหมายลดการทุจริต ซึ่งเป็นตัวชี้วัดตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่สำนักงานป.ป.ช. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกัน
โดยมี นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 เป็นประธานในพิธีเปิด และ นางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 กล่าวว่า กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต แผนงานพัฒนาแนวทางต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประเด็นระดับประเทศ ถือว่ามีความสำคัญ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่นำไปสู่การจัดทำข้อตกลงต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ตามประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตประเด็นระดับประเทศ อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมบูรณาการการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่ทุกหน่วยงานจะได้นำข้อตกลงฯ ตามประเด็นความเสี่ยงที่กำหนดไปขยายผลเป็นแนวทางต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ และ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริตได้ต่อไป
นางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานสถานการณ์การทุจริตประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พบว่า ประเภทคำกล่าวหา ปรากฏว่า คำกล่าวหา 2 อันดับแรก เป็นประเภทการจัดซื้อจัดจ้าง และการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเมื่อพิจารณาวงเงินงบประมาณของโครงการ หรือจำนวนเงินที่มีการทุจริตตามคำกล่าวหา มีมูลค่ารวม 11,834 ล้านบาท ซึ่งหากจำแนกตามประเภทคำกล่าวหา พบว่า คำกล่าวหาประเภทการจัดซื้อจัดจ้างมีมูลค่ามากที่สุด จำนวน 8,602 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72.69
นอกจากนี้ ยังเป็นประเด็นเสี่ยงตามฐานข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มีการจับตามองและแจ้งเบาะแสจากเครือข่ายภาคประชาชน ชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตทั่วประเทศ และเป็นเรื่องร้องเรียนที่เข้ามายังสำนักงาน ป.ป.ช. อย่างต่อเนื่องอีกด้วย จึงเป็นที่มาของหัวข้อความเสี่ยงที่กำหนดเป็นประเด็นระดับประเทศในปีนี้
กิจกรรมครั้งนี้ มีหัวข้อที่น่าสนใจ ซึ่งประกอบด้วย
การอภิปรายในหัวข้อ “สำนักงาน ป.ป.ช. กับกลไกสหยุทธ์ ต้านและลดทุจริตในประเด็นเสี่ยงระดับประเทศ” โดย นายกรกิฎ วันเที่ยง ผู้อำนวยการกลุ่มไต่สวน 4 สำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 2 นางสาวเนรัชราพิน สิทธิกัณย์ ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารพัสดุ สำนักบริหารทรัพย์สิน และนายวันชัย สีขาว ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักวิจัยและบริการวิชาการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต จากนั้น เป็นการบรรยายในหัวข้อ “โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative: CoST) เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบข้อมูลโครงการให้เกิดความคุ้มค่าและโปร่งใส” โดย นางสาวธันยพร คงเพชร คลังจังหวัดนครศรีธรรมราช และการอภิปรายในหัวข้อ “การพัฒนาระบบการกำกับติดตามการบริหารโครงการก่อสร้างเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐ และยกระดับความโปร่งใสตรวจสอบได้ของการดำเนินงานโครงการภาครัฐ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. สมบูรณ์ ศิริสรรหิรัญ รองคณบดี ฝ่ายบริหารและพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนางสาวนิตยา สันทะเนือง นักวิชาการพัสดุ กองคลัง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
การชี้แจง เรื่อง “มาตรการป้องกันการทุจริตการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร” ของสำนักงาน ป.ป.ช. โดย นายวันชัย สีขาว ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต
การแบ่งกลุ่มเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนงานเชิงบูรณาการ : เพื่อต้านและลดความเสี่ยงต่อการทุจริต ในโครงการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเด็นองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการทุจริตในโครงการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
การแบ่งกลุ่มเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนงานเชิงบูรณาการ: เพื่อต้านและลดความเสี่ยงต่อการทุจริต ในโครงการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต การออกใบอนุมัติ/ใบอนุญาตการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรณี การก่อสร้างอาคาร และกรณี การก่อสร้างถนน/ทางเชื่อม เข้า – ออก
กิจกรรมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจำนวน 130 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัด ในพื้นที่ภาค 8 และภาค 9 หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ สังกัดกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง) ผู้แทนระดับพื้นที่จาก กรมบัญชีกลาง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ผู้แทนจาก สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 8 และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
สำนักงาน ป.ป.ช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะเป็นเวทีที่ได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้และ ประสบการณ์ รวมถึงการได้ข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์ต่อการยกระดับมาตรฐานของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ สนับสนุนการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ มุ่งสู่ความโปร่งใสในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาระบบการกำกับติดตามการบริหารโครงการก่อสร้างเพื่อป้องกันปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อไป