Contrast
Font
b3415313f4d7e254ce235da39ee9ffb5.jpeg

ป.ป.ช. เผยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประกาศผลดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2565 ประเทศไทย ได้ 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 5047

31/01/2566

­ป.ป.ช. เผยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประกาศผลดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2565 ประเทศไทย ได้ 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก

           นายนิวัติไชย  เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 12.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2565 โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ 90 คะแนน จัดเป็นอันดับ 1 ของโลกคือ ประเทศเดนมาร์ก, อันดับ 2 ของโลกได้ 87 คะแนน คือ ประเทศฟินแลนด์ และประเทศนิวซีแลนด์ ในขณะที่ประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4   ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดคือประเทศสิงคโปร์ ได้ 83 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก

          ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565 นั้น เป็นการประเมินจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง โดยประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 2 แหล่ง คือ IMD WORLD เพิ่มขึ้นจาก 39 เป็น 43 คะแนน,  WEF เพิ่มขึ้นจาก 42 เป็น 45 คะแนน, และได้รับคะแนนลดลงจากปี 2564 จำนวน 2 แหล่ง คือ PERC ลดลงจาก 36 เป็น 35 คะแนน, WJP ลดลงจาก 35 เป็น 34 คะแนน และคงที่ 5 แหล่ง คือ BF(TI), EIU, GI, PRS และ V-DEM

แหล่งข้อมูลที่คะแนนเพิ่มขึ้น จำนวน 2 แหล่ง ได้แก่

  1. แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD)

          ได้ 43 คะแนน (ปี 2021 ได้ 39 คะแนน)

  1. แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF)

          ได้ 45 คะแนน (ปี 2021 ได้ 42 คะแนน)

เนื่องจากมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถามที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐได้มีการแก้ไขปัญหาการติดสินบน โดยมีการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับสินบนอย่างจริงจัง รวมทั้งการพัฒนาระบบการอนุมัติ อนุญาตให้มีความโปร่งใส การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ประกอบกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ได้ส่งเสริมให้มีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการอนุมัติอนุญาตตามนโยบาย Digital Government ส่งผลให้เกิดการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนระยะเวลาในการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานราชการ ตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูลลงในระบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคประชาชนมีความตื่นตัวในการจับตามองการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ จึงเกิดการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในตรวจการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ  จึงส่งผลต่อมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถามที่มองว่าปัญหาการติดสินบนและการคอร์รัปชัน ถูกแก้ไขเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

แหล่งข้อมูลที่คะแนนคงที่ จำนวน 5 แหล่ง ได้แก่

  1. 1. แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM)

          ได้ 26 คะแนน (ปี 2021 ได้ 26 คะแนน)

  1. แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI))

          ได้ 37 คะแนน (ปี 2021 ได้ 37 คะแนน)

  1. แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU)

          ได้ 37 คะแนน (ปี 2021 ได้ 37 คะแนน)

  1. แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI)

          ได้ 35 คะแนน (ปี 2021 ได้ 35 คะแนน)

  1. แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS)

          ได้ 32 คะแนน (ปี 2021 ได้ 32 คะแนน)

เนื่องจากมุมมองของผู้ประเมินในแหล่งข้อมูลดังกล่าว อาจเห็นว่า ถึงแม้ในปีที่ผ่านมาประเทศไทย จะได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตต่าง ๆ เช่น มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับระบบงบประมาณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงกระบวนงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ตลอดจนมีการลงโทษผู้ที่กระทำการทุจริต แต่ในปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ของประเทศไทย ยังคงมีอยู่ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา เช่น พฤติกรรมการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ ความโปร่งใสในการบริหารเงินงบประมาณ การป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการตรวจสอบและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริต ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

แหล่งข้อมูลที่คะแนนลดลง จำนวน 2 แหล่ง ได้แก่

  1. แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC)

          ได้ 35 คะแนน  (ปี 2021 ได้ 36 คะแนน)

  1. แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP)

          ได้ 34 คะแนน (ปี 2021 ได้ 35 คะแนน)

เนื่องจากการรับรู้ของผู้ประเมินที่มองว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐยังรับรู้และถือปฏิบัติตามนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่มากเท่าที่ควร รวมถึงยังคงมีการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนขาดการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานรัฐยังต้องมีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประเมินยังคงเห็นว่าปัญหาการทุจริตยังคงมีอยู่ อีกทั้งยังคงพบปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนการดำเนินมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ

ทั้งนี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ได้มีข้อเสนอแนะว่า นานาประเทศควรให้ความสำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจบริหาร ตุลาการและนิติบัญญัติ รวมทั้งส่งเสริมสิทธิเสรีภาพทางสังคม ให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ การจำกัดการใช้อิทธิพลทางการเมืองตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ รวมถึงการรับมือกับปัญหาการทุจริตข้ามชาติในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ ประเทศที่มีค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตสูงควรให้ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในเรื่องการต่อต้านสินบนข้ามชาติ ตลอดจนการติดตามทรัพย์สินคืน

ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่องค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พิจารณาแล้วเห็นว่าได้มีการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่อาจส่งผลกระทบต่อการยกระดับคะแนน CPI โดยตรง อาทิการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนงานด้านการปราบปรามการทุจริตและตรวจสอบทรัพย์สิน การพัฒนาระบบติดตามเรื่องร้องเรียนบนเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานปราบปรามการทุจริตและการตรวจสอบทรัพย์สิน เช่น ระบบฐานข้อมูลคดีทุจริต  (AGMS : Agency Case Monitoring System) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ผ่านชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต การจัดทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และการเสนอมาตรการ ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต  และประสานการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการดำเนินงานในการส่งเสริมการยกระดับคะแนน CPI ของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

ลิ้งค์การเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชน

https://www.thairath.co.th/news/politic/2617445

https://www.dailynews.co.th/news/1946576/

https://www.bangkokbiznews.com/politics/1050698

https://www.bangkokbiznews.com/politics/1050665

https://www.matichon.co.th/politics/news_3799551

https://www.ch7.com/sports/621060

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/189503

https://www.voicetv.co.th/read/lTpA6QjNa

https://www.thereporters.co/tw-politics/3101231436/

https://pantip.com/topic/41848917

https://www.posttoday.com/politics/domestic/690203

https://www.prachachat.net/politics/news-1191302

https://www.topnews.co.th/news/575976

https://www.isranews.org/article/isranews-news/115652-Isranews-CPI-newww.html

https://mgronline.com/politics/detail/9660000009771

https://www.nationtv.tv/politic/378901963

https://siamrath.co.th/n/419442

https://headtopics.com/th/361146361146359301306-34777945

https://www.fm91bkk.com/fm144552

https://www.chiangmainews.co.th/social/2866032/

Related