จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 457
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 2 เรื่อง
วันที่ 9 มกราคม 2568 นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ 1 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่านางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ร่ำรวยผิดปกติ รวมเป็นเงินจำนวน 231,742,807.50 บาท
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฐ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี วาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2553 – 26 กันยายน 2557 และวาระที่ 2 ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 - 28 เมษายน 2559 มีรายได้ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ระหว่างปี
พ.ศ. 2554 - 2559 รวมกับคู่สมรส เป็นเงิน 6,984,464.87 บาท แต่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นภายหลังเข้ารับตำแหน่งไม่สัมพันธ์กับรายได้ รวมเป็นเงินจำนวน 231,742,807.50 บาท ดังนี้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฐ ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติสืบเนื่องจากการเปรียบเทียบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ที่อยู่ในชื่อของตนเองและคู่สมรส รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 231,742,807.50 บาท ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด
เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เพื่อสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายในหกสิบวัน โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคห้า
หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 125
เรื่องที่ 2 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายณรงค์เดช ชัยเนตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการศาสนาชำนาญการ นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอำนาจเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสิงห์บุรี สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่า 30,089,846.43 บาท
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นายณรงค์เดช ชัยเนตร ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการศาสนาชำนาญการ นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอำนาจเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสิงห์บุรี สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และคู่สมรส มีรายได้ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ระหว่างปี พ.ศ. 2552 - 2560 รวมเป็นเงิน 3,779,010.65 บาท และมารดาของคู่สมรสไม่ปรากฏว่ามีรายได้จากการประกอบอาชีพอื่นใด แต่ถือครองทรัพย์สินเป็นจำนวนมากไม่สัมพันธ์กับรายได้ รวมมูลค่า 30,089,846.43 บาท ดังนี้
1.1 เงินฝาก จำนวน 4 บัญชี รวมเป็นเงิน 7,499,587.07 บาท
1.2 ยานพาหนะ 3 คัน รวมมูลค่า 1,333,611 บาท
1.3 เงินที่ใช้ในการชำระหนี้เงินกู้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 150,000 บาท
2.1 เงินฝาก จำนวน 14 บัญชี รวมเป็นเงิน 11,616,105.81 บาท
2.2 สลากออมสินพิเศษ จำนวน 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท
2.3 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่ทำการซื้อผ่านบริษัทหลักทรัพย์ รวมเป็นเงิน 640,542.55 บาท
2.4 ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มูลค่า 6,350,000 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
นายณรงค์เดช ชัยเนตร ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ รวมมูลค่า 30,089,846.43 บาท นอกจากนี้ จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของคู่สมรส มีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 21,340.44 บาท ซึ่งเงินกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าว เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ ที่จะต้องขอให้ศาลริบทรัพย์สินดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน และให้ส่งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายในหกสิบวัน โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม
ทั้งนี้ หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 125
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
.........................................................................
การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด
ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด