จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 42
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า การทุจริตเชิงนโยบายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อประเทศชาติโดยเฉพาะนโยบายภาครัฐแฝงมาในรูปแบบนโยบายสาธารณะซึ่งดูเหมือนจะเป็นประโยชน์แต่อาจถูกออกแบบมาให้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลหรือธุรกิจบางกลุ่ม ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อประเทศ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังการทุจริตเชิงนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งการทำงานเป็น 2 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ ขั้นตอนการพัฒนานโยบาย และขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
ขั้นตอนการพัฒนานโยบาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริต เรื่อง เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2562 เน้นให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง พัฒนานโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคบนพื้นฐานของความโปร่งใสด้านงบประมาณ ความเป็นไปได้ของนโยบาย ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม และความชัดเจนในการดำเนินงานตามนโยบาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2566 มีการปรับโครงสร้างของเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตดังกล่าวให้กระชับมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วยนโยบายหลัก 4 ด้าน ได้แก่
1) ความสมเหตุสมผลของนโยบาย
2) ความโปร่งใส
3) ความเหมาะสม ด้านทรัพยากรและงบประมาณ
4) แนวนโยบายด้านเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต
หลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานสำคัญ คือ เน้นให้พรรคการเมืองสร้างนโยบายที่มีการประเมินผลกระทบ วิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ ความชัดเจนของแหล่งเงินทุน ความโปร่งใสของผู้มีส่วนได้เสีย และการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน
ขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้ใช้กับโครงการของรัฐที่มีงบประมาณสูงกว่า 500 ล้านบาท โครงการที่มาจากนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล และโครงการที่มีผลกระทบสูงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการเมือง ต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยผู้รับผิดชอบนโยบายหรือโครงการจะต้องประเมินตามหลักเกณฑ์ ประกอบด้วย 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเตรียมการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตก่อนดำเนินการ การเตรียม การบริหารจัดการความเสี่ยงและติดตามการดำเนินการ การเตรียมการประเมินผลการบริหารจัดการความเสี่ยง และการเตรียมการสร้างความโปร่งใสในขั้นการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ
ในปี พ.ศ. 2566 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พัฒนาต่อยอด “ข้อเสนอแนะแนวทางบูรณาการขับเคลื่อนการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย” เน้นการบูรณการระหว่างหน่วยงานเพื่อร่วมป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ซึ่งข้อเสนอแนะฯ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
1. ขั้นวางแผนก่อนดำเนินโครงการ กำหนดให้สำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานหลัก โดยหน่วยงานที่ขอรับงบประมาณต้องจัดทำรายงานประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริต
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและกำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานระดับนโยบายจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อยกระดับการทำงานและการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายให้เข้มข้นยิ่งขึ้น คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่และอำนาจครอบคลุม ทั้งการศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยง จัดทำมาตรการป้องกัน ติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการที่เสนอไป รวมถึงขยายการทำงานครอบคลุมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจหรือคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนโยบายที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูง อาทิ นโยบายบ้านเพื่อคนไทย นโยบายสถานบันเทิงครบวงจร หรือนโยบายอื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน เพื่อนำมาศึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อันจะนำไปสู่แนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น ผ่านการวางมาตรการหรือข้อเสนอแนะในการป้องกันการทุจริตเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีตามหน้าที่และอำนาจ ในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยด้วยว่า การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันมุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายตั้งแต่ต้นทางและเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นการทุจริตระหว่างการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของฝ่ายบริหาร แต่มุ่งส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายสาธารณะ การดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการยกระดับมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างกลไกเชิงระบบเพื่อป้องกันมิให้นโยบายสาธารณะที่ดีถูกบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อความเสี่ยงของการทุจริตที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทุจริตที่แฝงมาในนโยบายสาธารณะ และจะใช้อำนาจหน้าที่ตามกรอบกฎหมายในการตรวจสอบและสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพยากรของประเทศจะถูกใช้อย่างคุ้มค่าและก่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง