Contrast
Font
26584efaf1b0bae40680c5bfc8a7dd32.jpg

สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการซ่อมสร้างและปรับปรุงถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก บ้านนาเรือง หมู่ที่ 7 เส้นกลางหมู่บ้าน อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ จากกรณีที่เป็นข่าวบนสื่อออนไลน์ “เทสดทับของเดิม”

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ
จำนวนผู้เข้าชม: 43

04/10/2567

สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการซ่อมสร้างและปรับปรุงถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก บ้านนาเรือง หมู่ที่ 7 เส้นกลางหมู่บ้าน อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ จากกรณีที่เป็นข่าวบนสื่อออนไลน์ “เทสดทับของเดิม”

          เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 นางสาวปิยะฉัตร  พ่วงพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานปราบปรามการทุจริต กลุ่มงานป้องกันการทุจริต และกลุ่มงานสืบสวนคดีทุจริต ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยจากการตรวจสอบพบว่าโครงการที่มีการร้องเรียนเป็นงานซ่อมสร้างและปรับปรุงถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก บ้านนาเรือง หมู่ที่ 7 เส้นกลางหมู่บ้าน ขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนงาม ดำเนินการจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยอาศัยงบประมาณตามข้อบัญญัติ จำนวน 198,000 บาท มีร้านศุภกรเป็นคู่สัญญา ตามสัญญาจ้างก่อสร้างเลขที่ ๕๒/๒๕๖๗ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๗ มีข้อกำหนดในสัญญาจ้างระบุให้ผู้รับจ้างดำเนินการซ่อมสร้างและปรับปรุงผิวจราจรกว้าง 4 เมตร ตามจุดที่ชำรุด รวมระยะทางยาว 150 เมตร หนาไม่น้อยกว่า 0.05 เมตร หรือมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 600 ตารางเมตร

          นายสุรพงษ์  พุทธิวงศ์ ผู้ควบคุมงาน ได้ชี้แจงว่า ในการซ่อมแซมพื้นผิวถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ผู้รับจ้างได้ทำการปรับเกลี่ยพื้นผิวถนนเดิมให้ได้ระดับพร้อมทั้งทำความสะอาดให้เรียบร้อย จากนั้นทำการโรยปูนกาวซีเมนต์ชนิดพิเศษบนพื้นผิวถนนเดิม โดยปูนชนิดดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยประสานให้คอนกรีตที่จะเทใหม่ประสานเป็นเนื้อเดียวกันกับพื้นผิวถนนเดิม เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จผู้รับจ้างได้ทำการเข้าแบบและเทคอนกรีตทับลงไปบนถนนเดิม โดยคอนกรีตที่เทนั้นมีความหนาไม่น้อยกว่า ๐.๐๕ เมตร เมื่อแล้วเสร็จจึงทำการปรับเกลี่ยให้ได้ระดับ ซึ่งผู้รับจ้างได้เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 และส่งมอบงานเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 จากนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลโนนงาม ได้ทำการตรวจรับงานจ้างเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567

          ส่วนสาเหตุที่ไม่มีการใช้เหล็กและตะแกรงไวร์เมชในการก่อสร้าง เนื่องจากลักษณะของงานเป็นการซ่อมแซมพื้นผิวถนนคอนกรีต ไม่ใช่งานก่อสร้างถนนคอนกรีตขึ้นมาใหม่ที่ต้องนำเหล็กและตะแกรงไวร์เมชมาใช้เป็นส่วนประกอบในการก่อสร้าง

          ในการนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ยังคงจับตามองประเด็นดังกล่าวและ ขอขอบคุณประชาชน องค์กรเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันจับตามองและแจ้งเบาะแสกรณีใช้ จ่ายงบประมาณและทรัพย์สินของราชการให้เกิดความคุ้มค่าต่อไป

 

Related