จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 158
"ที่มาของข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันความเสี่ยงการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือ สื่อการเรียนการสอน และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน!
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับข้อกล่าวหากรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการดำเนินการจัดซื้อหนังสือ สื่อการเรียนการสอน และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) โดยกำหนดคุณลักษณะหรือเงื่อนไขในการเสนอราคา อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคาโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีที่บุคคลอื่นที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 จึงได้มีมติมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว และให้ส่งเรื่องให้สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช. ศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอมาตรการหรือแนวทางการประสานความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
จากการตรวจสอบพฤติการณ์และข้อเท็จจริงตามเรื่องกล่าวหา และการศึกษาข้อเท็จจริงในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือ สื่อการเรียนการสอนและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) เป็นกระบวนการดำเนินงานที่มีกฎหมาย ระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้มีข้อร้องเรียน/ข้อกล่าวหาในลักษณะดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงเห็นควรประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังและสังเกตการณ์การดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาหรือกระตุ้นคุณภาพการศึกษาที่ต้องมีการสนับสนุนงบประมาณ การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
-------------------------------------------
"ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันความเสี่ยงการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือ สื่อการเรียนการสอน และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน"
เพื่อป้องกันไม่ให้มีข้อร้องเรียน/ข้อกล่าวหาในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือ สื่อการเรียนการสอน และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) สำนักงาน ป.ป.ช. จึงประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
การเฝ้าระวังและสังเกตการณ์การดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาหรือกระตุ้นคุณภาพการศึกษาที่ต้องมีการสนับสนุนงบประมาณ การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ดังต่อไปนี้
(1) พิจารณากำหนดแนวทางในการซักซ้อมการดำเนินงานที่ต้องมีการจัดซื้อจ้างอย่างชัดเจนและให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
(2) สร้างความรู้ความเข้าใจและกำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนในสังกัด ตรวจสอบและเฝ้าระวังพฤติการณ์อันควรสงสัยเกี่ยวกับการมีผลประโยชน์ร่วมกันของผู้เข้าเสนอราคา
ต่อหน่วยงาน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 โดยหากพบพฤติการณ์ดังกล่าวให้พิจารณาทบทวน ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อน แล้วจึงดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสุ่มเสี่ยงต่อการรับผิดตามบทบัญญัติตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ดังกล่าว
(3) ในการดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือ สื่อการเรียนการสอน และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) โดยวิธีการประกาศเชิญชวนทั่วไป ควรต้องมีการประกาศเชิญชวนให้กว้างขวางครอบคลุมทั้งบริษัทผู้ผลิต ผู้ประกอบการ สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ และร้านค้า เพื่อให้มีความหลากหลายในตัวเลือก และแก้ไขปัญหาการมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยราย และมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ เข้าเสนอราคาแข่งขัน เนื่องจากไม่สามารถหาสินค้ามาเพื่อเข้าเสนอราคาได้
(4) พิจารณากำหนดแนวทางการติดตามและประเมินผลเชิงประสิทธิภาพและความคุ้มค่าจากการจัดหาและการใช้ประโยชน์หนังสือ สื่อการเรียนการสอน และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) เป็นประจำทุกปี และโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของครูผู้สอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันความเสี่ยงการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือ สื่อการเรียนการสอน และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์สำหรับแนวทางการป้องกัน ตรวจสอบและเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงการทุจริตในการดำเนินโครงการจัดหาหนังสือ สื่อการเรียนการสอน และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และป้องกันการร้องเรียนกรณีดังกล่าว ในอนาคต
----------------------------------------
พบกับเกร็ดความรู้สู้ทุจริตกันอีกเช่นเคยนะครับ ในวันนี้พบกับเรื่อง ที่มาของแนวทางการปรับปรุงระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2560 ให้สอดคล้องตามข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะมีเรื่องราวเป็นเช่นไรไปติดตามกันได้เลยครับ
สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัลต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ได้มีมติรับทราบข้อเสนอแนะตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปผลการพิจารณา/การดำเนินการในภาพรวมเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี จึงมีการจัดประชุมระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และกรมศุลการกรและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อหารือแนวทางการปรับปรุงระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2560 ให้สอดคล้องตามข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล
--------------------------------------------------
หลังจากที่ได้ทราบถึงที่มาของแนวทางการปรับปรุงระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2560 ให้สอดคล้องตามข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กันไปแล้ว ในวันนี้มาติดตามกันต่อในเรื่องของแนวทาง หลังจากที่สำนักงาน ป.ป.ช. กรมศุลกากรและหน่วยงานอื่นๆได้หารือกันแล้ว ได้แนวทางการปรับปรุงอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ
กรมศุลกากรได้เสนอแนวทางในการปรับปรุงการจ่ายเงินสินบน และรางวัล โดยจะมีการทบทวนคำนิยามผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลตามข้อ 7 ของระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2560 ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและให้สะท้อนการมีส่วนร่วมและผลการปฏิบัติมากกว่าระดับตำแหน่ง เพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน และลดการใช้ดุลยพินิจของหัวหน้าส่วนราชการตามข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นอกจากนี้ กรมศุลกากรจะดำเนินการจัดทำ “ฐานข้อมูลกลาง” เกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัล และเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งในส่วนกลางและทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบติดตามและให้เกิดความโปร่งใสในการจ่ายเงินสินบนและรางวัลอีกด้วย
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลในสาระสำคัญ วัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์ตามประเด็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมศุลกากรจะนำความเห็นที่ได้จากการประชุมหารือในครั้งนี้ไปประกอบแนวทางการปรับปรุงระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2560 เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
----------------------------------------
ที่มาของแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียน
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประชุมหารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการป้องกันการทุจริตเงินอุดหนุน อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบการจัดสรรและการนำเงินอุดหนุนไปใช้ โดยในปัจจุบันโรงเรียนเอกชนในการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนที่รับเงินอุดหนุน แบ่งเป็นโรงเรียนเอกชนส่วนกลาง จำนวน 437 แห่ง โรงเรียนเอกชนส่วนภูมิภาค จำนวน 3,006 แห่ง รวมทั้งสิ้น 3,443 แห่ง โดยมีจำนวนนักเรียนที่รับเงินอุดหนุนทั้งหมด 1,841,084 คน ซึ่งโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ดำเนินการใช้จ่ายเงินอุดหนุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ยังมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินอุดหนุนของโรงเรียนเอกชนอยู่ อันเนื่องมาจากปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการตรวจติดตามเงินอุดหนุน ได้แก่ ปัญหาด้านบุคลากร
ไม่เพียงพอ ขาดความรู้ในเรื่องกฎหมายและระเบียบในการตรวจ ปัญหาจากการขาดความตระหนักรู้ของเจ้าหน้าที่โรงเรียน ที่ใช้จ่ายเงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ปัญหาจากช่องว่างในการประสานงานหรือการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัญหาการขาดแคลนเทคโนโลยี ปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินการตรวจติดตาม ขาดมาตรการที่ชัดเจนสำหรับผู้ปฏิบัติ และปัญหาเชิงระบบของการอุดหนุน เป็นต้น จึงทำให้มีการหารือและสรุปมาตรการรวมถึงแนวทางแก้ไขในการบริหารจัดการเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนดังกล่าว
-------------------------------------
"แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียน"
หลังจากที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประชุมหารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วได้สรุปมาตรการและแนวทางแก้ไข ได้แก่
1) กำหนดแนวทางให้โรงเรียนวางระบบการตรวจสอบภายในของโรงเรียน และให้ผู้ปกครอง นักเรียน เข้ามามีส่วนร่วม
2) สร้างความตระหนักรู้และจัดการอบรมให้เจ้าหน้าที่เข้าใจในแนวปฏิบัติ
3) ประชาสัมพันธ์สิทธิในการได้รับการอุดหนุนให้นักเรียนและผู้ปกครองรับทราบ
4) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจ ติดตาม รวมทั้งการประสานงานในกรณีที่พบการทุจริต
5) ออกแบบระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินการ เช่น เชื่อมโยงข้อมูลการแสดงตนของนักเรียนเพื่อรับเงินอุดหนุน เป็นต้น และ
6) ปรับปรุงระเบียบ และประกาศว่าด้วยการอุดหนุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
การตรวจติดตามเงินอุดหนุนให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จะนำแนวทางที่ได้จากการหารือ มากำหนดเป็นมาตรการให้โรงเรียนเอกชนดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อพร้อมรองรับการตรวจสอบ ติดตาม โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาต่อไป
------------------------------------------
"ที่มาของข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์"
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ในการเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ในการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งการพนันเป็นกิจกรรมที่ถูกกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายตามกฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในการควบคุมการพนัน การพนันได้พัฒนา
มาเป็นการพนันออนไลน์ ซึ่งมีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือ การที่อยู่ในระบบออนไลน์ทำให้การจับกุมทำได้ยากเป็นโอกาสที่จะทำให้คนที่อยากจะทำผิดอยู่แล้วมีโอกาสเข้าถึงได้มากขึ้น และมีกระบวนการทำเป็นทางลับมากขึ้น ทั้งการเปิดเว็บไซต์ การโอนเงิน และการสร้างบัญชีม้า การพนันออนไลน์ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโดยการดึงเงินออกจากระบบหลัก และมีความเชื่อมโยงกับการทุจริตคอร์รัปชัน โดยการพนันออนไลน์สามารถดึงดูดเงินจำนวนมากออกจากระบบเศรษฐกิจหลัก ไหลออกไปสู่การพนันออนไลน์ และเงินดังกล่าว ไหลกลับมาเป็นเงินทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการใช้เงินที่ได้มาจากการพนันออนไลน์เพื่อใช้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย อาทิ การฟอกเงิน การจ่ายสินบน และการสนับสนุนกิจกรรมทุจริตอื่น ๆ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ การค้ามนุษย์ รวมถึงอาจเกี่ยวพันกับการก่ออาชญากรรมด้านอื่นอีก โดยมีสายเงินจากบัญชีม้า สายเงินสีเทาเป็นจุดเชื่อม
ในการนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์” ให้ดำเนินการศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการพนันออนไลน์
เพื่อหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตอันเนื่องมาจากการพนันออนไลน์ และเห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 81/2567 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ และให้นำข้อเสนอแนะดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี และองค์กรอัยการ โดยในการประชุมของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ได้มีมติเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ดังนี้
1) รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ
2) มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงยุติธรรม (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน
นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ตอนต่อไปเป็นเรื่องราวของรายละเอียดข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ซึ่งจะมีเรื่องราวเป็นอย่างไรโปรดติดตามครับ.....
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์เพิ่มเติม ได้ที่ : https://www.nacc.go.th/.../201808311846.../20241122163246...
---------------------------------------------------------------
"ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์"
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล
1) ให้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ โดยมอบหมายรัฐมนตรีเป็นประธาน ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านนโยบาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านเทคโนโลยี หน่วยงาน
ที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลคลื่นความถี่ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และเสนอให้คณะกรรมการระดับชาติดังกล่าวพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น
2) กำหนดเป็นนโยบายว่าการมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการพนันออนไลน์ให้ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่ต้องมีการดำเนินการโดยเร่งด่วน
3) สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ปปง. มีนโยบายร่วมกันในการยกระดับความสำคัญของปัญหาการพนันออนไลน์และดำเนินการเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เพื่อให้ประชาชนเห็นโทษของการพนัน ไม่ฝักใฝ่ในการเล่นการพนัน รวมถึงความผิดเกี่ยวกับการรับเป็นบัญชีม้าตลอดจนการดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดีพนันออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้น
4) สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด และจัดทำโครงสร้างใหม่ดำเนินการย้ายฐานข้อมูลการทำงานของระบบราชการเข้าไปอยู่ใน Cloud Computing เพื่อให้เกิดการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
------------------------------------------
"ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ (ตอนที่ 2)"
ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ควรสร้างระบบบริหารจัดการภายในเพื่อให้มีการรองรับการดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีนอกราชอาณาจักรที่เป็นคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีจำนวนมากได้โดยรวดเร็วมากขึ้น
กำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจน ต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม ในการสืบสวนสอบสวนคดีการพนันออนไลน์ และอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอื่น
3.1 ควรลงทุน พัฒนา ในเรื่องการปรับใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเพื่อสืบค้น ตรวจจับ เว็บไซต์การพนันออนไลน์ รวมถึงเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี
3.2 จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและติดตามผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) หลังจากศาลมีหมายให้ปิดกั้นเว็บไซต์
3.3 พิจารณาดำเนินการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์การพนันออนไลน์ โดยเฉพาะในส่วนของ LINE OA เพื่อตัดการสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการกับผู้เล่นพนัน
----------------------------------------------------
"ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ (ตอนที่ 3)"
ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ต่อ)
ธนาคารแห่งประเทศไทย
1) ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงินการธนาคาร สมาคมการเงินการธนาคารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการตรวจสอบทางการเงิน อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ในการพิจารณาลดหรือทบทวนมาตรการของสถาบันการเงินหรือธนาคาร เกี่ยวกับช่องทางการเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์ การยกระดับความเข้มข้นรัดกุมเกี่ยวกับหลักการตรวจสอบความมีอยู่จริงของลูกค้าอย่างเข้มงวด รวมถึงการพิจารณาเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่และการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ ตลอดจนมีการยกระดับในการปราบปรามเกี่ยวกับบัญชีม้า การดำเนินการตรวจสอบย้อนหลังบัญชีธนาคารที่ต้องสงสัยที่มีการเปิดกับธนาคารแต่ละแห่งเพื่อพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบบัญชีม้าร่วมกันระหว่างธนาคาร ทั้งนี้ รวมไปถึงกระบวนการขั้นตอนการดำเนินคดีกับบัญชีม้าเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิด และเร่งรัดกระบวนการดำเนินการเกี่ยวกับการปิดบัญชีหรือถอนชื่อบัญชีออกจากการเป็นผู้ที่สามารถมีบัญชีเป็นการทั่วไป (ขึ้น Blacklist) ในกลุ่มผู้ที่เป็นบัญชีม้าหรือยอมให้ใช้ชื่อตนเองเป็นบัญชีม้า
2) ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเปิดบัญชี ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกสถาบันการเงิน
3) ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงิน สำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดำเนินการวางหลักเกณฑ์การตรวจสอบ สำหรับกรณีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับ การเปิดบัญชีว่าบัญชีใดที่เข้าข่ายต้องสงสัย เพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติและสิ่งบ่งชี้กรณีเหตุอันควรสงสัย ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566
4) ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาหารือร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงิน สำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการจัดการปัญหาการพนันออนไลน์ และให้มีการดำเนินการเชิงรุก เพื่อสร้างกลไกในการหยุดเส้นทางการเงินของพนันออนไลน์ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งแก้ไขข้อขัดข้องในทางปฏิบัติระหว่างหน่วยงานเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการระงับยับยั้งสกัดกั้นเส้นทางการเงินที่ผิดกฎหมายของการพนันออนไลน์ ตลอดจนให้มีการบูรณาการและเชื่อมโยงฐานข้อมูล หรือ Blacklist ซึ่งสามารถให้สถาบันทางการเงินหรือธนาคารสามารถเข้าไปตรวจเช็คได้ว่าเป็นกลุ่มบัญชีของมิจฉาชีพหรือผู้ต้องสงสัยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันปัญหาการพนันออนไลน์หรือการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
5) ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ในการประชาสัมพันธ์และกำชับพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีความเคร่งครัด ระมัดระวัง และมีความรอบคอบในการเปิดบัญชี รวมถึงให้มีการรณรงค์ เผยแพร่ และสร้างความตระหนักรู้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้รู้เท่าทันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี