Contrast
banner_default_3.jpg

ป.ป.ช.มหาสารคาม แถลงผลการดำเนินงานที่น่าสนใจประจำเดือนพฤษภาคม 2567

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม
จำนวนผู้เข้าชม: 1890

03/06/2567

สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม แถลงผลการดำเนินงานประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ดังนี้

  1. การสนับสนุนบุคลากรเป็นวิทยากรส่งเสริมความรู้ให้กับหน่วยงานภายนอก

1.1 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ที่อาคารอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเลิงจาน จังหวัดมหาสารคาม นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อํานวยการสํานักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม มอบหมายให้นายพีระณัฐ สีทองเดชารัตน์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญพิเศษ และนายนิพพิชฌน์ ภัทรวิริยะคุณ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติการ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในโครงการฝึกอบรมคุณธรรมจริยธรรม โดยมีคณะผู้บริหาร พนักงานส่วนตำบล พนักงานจ้าง บุคลากร และสมาชิกสภาองค์การบริหาร    ส่วนตำบลแก่งเลิงจาน เข้าร่วมโครงการจำนวน 63 คน

1.2 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 - 11.00 น. ที่ห้องประชุมโรงเรียนอนุบาลมหาสารคาม นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม มอบหมายให้ นายพีระณัฐ สีทองเดชารัตน์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต ร่วมให้ความรู้และข้อสังเกตจากการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันที่ได้รับจัดสรรจากองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ตามโครงการให้คำปรึกษาการใช้จ่ายงบประมาณอุดหนุนสถานศึกษาและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณอุดหนุนอาหารกลางวันของสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งจัดโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม โดยมีผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 1, เขต 2 และเขต 3 เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อสังเกตต่าง ๆ กว่า 60 คน

1.3 วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ณ หอประชุมพระมิ่งเมือง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อํานวยการสํานักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม มอบหมายให้นายพีระณัฐ สีทองเดชารัตน์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญพิเศษ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ "การป้องกันการทุจริต กับการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาในสถานศึกษา" ตามโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาล ในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งจัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3

2. ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก หรือแบบวัด EIT อปท. การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA)

ในเดือนพฤษภาคม 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้ดำเนินการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) การประเมิน ITA องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอพยัคฆภูมิสัย อำเภอยางสีสุราช อำเภอนาเชือก อำเภอบรบือ อำเภอวาปีปทุม และอำเภอโกสุมพิสัย รวมทั้งหมดจำนวน 43 หน่วยงาน

 3. การลงพื้นที่เฝ้าระวังป้องปรามการทุจริต จำนวน 3 กรณี ดังนี้

3.1 ลงพื้นที่กรณีสื่อเสนอข่าว "ปั๊มสูบน้ำ สร้าง 10 ปีไม่เคยใช้ ปล่อยทิ้งร้างสนิมเกาะ"

จากกรณีที่ศูนย์เพจ Facebook ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ได้นำเสนอข่าวว่า “10 ปี ไม่เคยใช้ ปล่อยจนสนิมเกาะ สร้างไว้เกือบ 10 ปี ยังไม่เคยใช้งาน เหตุเกิดจากท่อกับคลองส่งน้ำรั่ว ลำเลียงน้ำไม่ได้ เลยปล่อยทิ้งร้างไว้ โรงสูบน้ำไฟฟ้าบ้านยาง จ.มหาสารคาม ของกรมชลประทาน พยายามโอนให้ อบต.ขามเฒ่าพัฒนา ดูแลต่อ แต่ อบต. ไม่รับ เพราะใช้ไม่ได้ตั้งแต่แรก” นั้น เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม นำคณะเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่ขอทราบข้อมูลตามที่มีการเสนอข่าวดังกล่าว ณ องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม และสถานที่ตั้งโครงการก่อสร้างฯ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล

               จากการลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่าตามประเด็นที่มีการเสนอข่าวนั้น คือ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านยาง ตำบลขามเฒ่าพัฒนา อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ดำเนินการการโดยโครงการชลประทานจังหวัดมหาสารคาม สำนักชลประทานที่ 6 ดำเนินการก่อสร้างเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2557 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2558 งบประมาณ 24,964,567 บาท มีบริษัท ฟร้อนท์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นคู่สัญญา โดยได้ส่งมอบงานก่อสร้างตามสัญญา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 โครงการชลประทานมหาสารคาม ได้รับมอบงานไว้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 ระยะเวลาประกันความชำรุดบกพร่อง 2 ปี (ครบกำหนดวันที่ 12 กันยายน 2561) นายชลศักดิ์ สุขี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานมหาสารคาม ให้ข้อมูลว่าหลังจากรับมอบสถานีสูบน้ำดังกล่าว ก็ได้มีการใช้เปิดใช้งานเรื่อยมา ซึ่งโครงการชลประทานมหาสารคาม ได้มีการประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งสถานีสูบน้ำและมีประชาชนที่ได้ใช้ประโยชน์โดยตรง เพื่อจะดำเนินการถ่ายโอนสถานีสูบน้ำฯ ให้กับ อบต.ขามเฒ่าพัฒนา แต่ดำเนินการถ่ายโอนไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากขณะนั้นทาง อบต.ขามเฒ่าพัฒนา ไม่มีผู้บริหาร จึงทำให้ระยะเวลาในการถ่ายโอนล่าช้าออกไป

           ต่อมาในปี พ.ศ. 2566 พบว่าสถานีสูบน้ำฯ มีความชำรุดของตัวเครื่องสูบน้ำที่ทำให้สูบน้ำส่งไปยังพื้นที่ให้กับเกษตรกรได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และระบบส่งน้ำบางช่วงเสียหายจากการใช้งานมานาน ซึ่งการตรวจพบความชำรุดดังกล่าวเกินระยะเวลาประกันความชำรุดบกพร่อง 2 ปีของผู้รับจ้าง โครงการฯ จึงได้ดำเนินการขออนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการซ่อมแซม แต่ไม่รับการอนุมัติ จึงทำให้ไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม และได้ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อโซเชียลซึ่งทางโครงการฯ จะได้ประสานไปยังกรมชลประทาน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขสถานีสูบน้ำฯ โดยมีแนวทางเบื้องต้น คือ จะขออนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้

ด้าน นายศรีบุญ มังสังคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา กล่าวว่า ในช่วงที่สถานีสูบน้ำฯ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จนั้น ได้มีขั้นตอนในการจะถ่ายโอนมาให้องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการ แต่มีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้การถ่ายโอนไม่เสร็จสิ้นตามขั้นตอนของกฎหมาย อีกทั้งขณะนั้น พบว่าสถานีสูบน้ำ มีความชำรุดที่ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำได้ และโครงการชลประทานฯ ก็ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างเข้าซ่อมแซมจุกที่ชำรุดดังกล่าว แต่ต่อมาก็พบความชำรุดอีกจุด ซึ่งทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา มีความกังวลเนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณในการบำรุงดูแลรักษา จึงทำให้ไม่มีการถ่ายโอนสถานีสูบน้ำดังกล่าวให้องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา ซึ่งทาง อบต. ก็มีสถานีสูบน้ำในความดูแลของ อบต. จำนวน 2 เครื่อง ที่ต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษาจำนวนมาก ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลขามเฒ่าพัฒนา ไม่ขัดข้องเรื่องการถ่ายโอน หากมีการดำเนินการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้สมบูรณ์ และสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการสูบน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากหากซ่อมแซมแล้วแต่ไม่มีน้ำที่จะสูบไปให้ประชาชนหรือเกษตรกรได้ ก็จะเป็นปัญหาอีกครั้ง รวมทั้งระบบส่งน้ำ (คลองส่งน้ำ) บางช่วงก็พังชำรุด ทำให้น้ำที่สูบส่งไปไม่ทั่วถึงปลายทาง

ทั้งนี้ นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้เสนอแนะให้ผู้เกี่ยวข้อง ดำเนินการประชุมชี้แจง เพื่อสอบถามกับประชาชนและเกษตรกรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาในการดำเนินการ และให้ทางโครงการชลประทานฯ ได้ประสานกับกรมชลประทาน และ อบต.ขามเฒ่าพัฒนา   เพื่อดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่และระเบียบกฎหมาย ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป

3.2 ลงพื้นที่ขอทราบข้อมูลการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ตามมาตรการป้องปรามเฝ้าระวังทุจริต

เมื่อวันที่ 8 - 9 พฤษภาคม 2567 นายเสกสรรณ์ สมมาตย์  ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ดำเนินการลงพื้นที่สังเกตการณ์และเฝ้าระวังการการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษาและการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ และ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ. 2567 โดยได้ติดตาม ขอทราบข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 1 เขต 2 และเขต 3 ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามหาสารคาม ตามที่ได้รับแจ้งข้อมูลจาก สพฐ. พบว่าไม่มีการดำเนินการคัดเลือก

3.3 ติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ของสถานีตรวจสอบน้ำหนักมหาสารคาม

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักมหาสารคาม ต.นาโพธิ์ อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่เพื่อติดตามและสังเกตการณ์การดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยมีนายวินัย พงษ์สุพรรณ์ หัวหน้าสถานีฯ ร่วมให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง

โดยสถานีตรวจสอบน้ำหนักมหาสารคาม เป็นประเภทสถานีตรวจสอบน้ำหนัก และดำเนินการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะเคลื่อนที่ (Spot Check) มีการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกับ ตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธรจังหวัด และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร มีแนวทางการปฏิบัติของสถานีตรวจสอบน้ำหนัก/ด่านชั่งน้ำหนัก สอดคล้องกับ แนวทาง/มาตรการ/วิธีการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน (Action Plan) ของกระทรวงคมนาคม มีการการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะเคลื่อนที่ (Spot Check) บนถนนสายหลัก/สายรอง/สายที่มีความเสี่ยงในการบรรทุกน้ำหนักเกิน/สายทางที่มีการร้องเรียน โดยดำเนินการสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  นอกจากนี้ อาจะดำเนินการเพิ่มเติมเมื่อได้รับแจ้งจากประชาชนว่าพบรถบรรทุกที่ต้องสงสัยว่าบรรทุกน้ำหนักเกิน วิ่งในถนนสายรอง ทั้งนี้ ด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะเคลื่อนที่ (Spot Check) จะต้องดำเนินการขออนุมัติต่อผู้บังคับบัญชาเป็นรายเดือน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะสามารถดำเนินการได้

               ส่วนสถิติการจับกุมผู้กระทำความผิด พบว่าสถานีฯ มีรถเข้าชั่งประมาณ 8,000 – 14,000 คัน/เดือน โดยมีการจับกุมผู้กระทำความผิดจำนวน 2 คัน/เดือน ทั้งนี้ มีการแยกเป็นสถิติของสถานี และสถิติรวมในระดับประเทศ แต่กรณีที่สถานีร่วมจับกุมกับหน่วยงานอื่นหรือสถานีอื่น จะไม่ได้ติดตามความคืบหน้าของคดี เนื่องจากหน่วยงานอื่นจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อไป ส่วน กรณีมีการจับกุมผู้กระทำความผิด หากพบว่าเป็นผู้กระทำความผิดรายเดิมหรือเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำซึ่งพบจำนวนน้อยราย ทางสถานีฯ จะมีหน้าที่เพียงจับกุมผู้กระทำความผิด ส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อส่งฟ้อง โดยบทลงโทษในการกระทำความผิดครั้งแรกอาจเป็นการลงโทษสถานเบา หรืออัตราค่าปรับน้อย แต่เมื่อพบว่ามีการกระทำความผิดซ้ำในครั้งที่ 2 จะมีบทลงโทษหรืออัตราค่าปรับสูง จนส่งผลทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความกลัวและไม่กล้าเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซ้ำอีกต่อไป ดังนั้น กรณีเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำจะเป็นผู้ที่กระทำความผิดซ้ำไม่เกิน 2 ครั้ง ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามแนวทางข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินโดยเคร่งครัด

                     จึงแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน

Related