Contrast
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 613

04/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 7 พฤษภาคม 2562

ข้อเสนอแนะ


          เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ ต่อคณะรัฐมนตรี ตามความมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. ด้านการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ

          1.1 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการ ดังนี้

                1.1.1 จัดทำและพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินค่าบริการและระบบการจองล่วงหน้า สำหรับบุคคลที่เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การใช้บัตรเข้ารับบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) การซื้อบัตรล่วงหน้าแบบออนไลน์ เป็นต้น และจัดตั้งจุดจำหน่ายบัตรค่าบริการที่เชื่อมโยงการบริหารจัดการกับหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประจำจังหวัด เคาน์เตอร์บริการ (Service Counter) เป็นต้น พร้อมทั้งให้จัดทำและพัฒนาระบบการตรวจสอบการจัดเก็บค่าบริการด้วย

                1.1.2 จัดทำระบบการรายงานผลจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้า – ออกอุทยานแห่งชาติ แบบทันทีและตลอดเวลา (Real Time) ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ เป็นต้น

                1.1.3 ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง อย่างเข้มงวด หากพบการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง พร้อมรายงานต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเผยแพร่ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้สาธารณชนรับทราบ

                1.1.4 ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการติดตามและควบคุมการจัดเก็บเงินรายได้ โดยให้หน่วยงานภายนอกมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน เป็นต้น และควรให้คณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดเก็บเงินรายได้ด้วย

               1.1.5 จัดทำข้อมูลขีดความสามารถในการรองรับได้ของแต่ละอุทยานแห่งชาติ (Carrying Capacity) ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน แล้วนำข้อมูลมาจัดทำแผนการบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้มีการจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคำนึงถึงผลกระทบ โดยให้มีการดำเนินการที่เร่งด่วน โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติแห่งชาติที่มีความสำคัญ และมีความเสี่ยงที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลาย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา และอุทยานแห่งชาติอื่น ๆ

                1.1.6 ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการนำแผนการบริหาร จัดการนักท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติไปปฏิบัติ และร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ และ นักท่องเที่ยวทราบ

                1.1.7 ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำและพัฒนาระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System : VMS) และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีท่าเทียบเรือ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมจำนวนเรือท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ

          1.2 ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวรอง และอุทยานแห่งชาติทางเลือก ให้กับผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวทราบ เพื่อให้เกิดการกระจายปริมาณนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ

          1.3 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดเก็บเงินรายได้ในเขตอุทยานแห่งชาติ

2. ด้านการพิจารณาและอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ

          2.1 คณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการ ดังนี้

                2.1.1 ปรับปรุงระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 โดยให้องค์ประกอบของ คณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ มีตัวแทนจากหน่วยงานภายนอก และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการท่องเที่ยวและนันทนาการ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม

                2.1.2 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจติดตามและประเมินผลแผนงาน/โครงการและ กิจกรรมที่อนุมัติจากเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และให้รายงานผลการตรวจสอบประจำปี และรายงานการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พร้อมทั้ง เปิดเผยรายงานดังกล่าว ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ เป็นต้น

          2.2 การพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการ ดังนี้

                2.2.1) คณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ควรมีการพิจารณาแผนงาน/โครงการขอใช้เงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติอย่างรอบคอบและพิจารณาถึงความซ้ำซ้อนกับงบประมาณที่ตั้งไว้ในหน่วยงานภายในที่มีภารกิจเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

                2.2.2) การพิจารณาแผนงาน/โครงการเพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ควรผ่าน ความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติก่อน ยกเว้น กรณีจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

                2.2.3) เห็นควรกำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงิน รายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ข้อ 13 วรรคสอง กรณีการอนุมัติโดยกรณีจำเป็นเร่งด่วน ให้มีหลักเกณฑ์และแนวทางที่มีความชัดเจนว่าควรใช้ในเรื่องใดบ้าง และควรกำหนดวงเงินงบประมาณและระยะเวลาในการใช้

                2.2.4) แผนงาน/โครงการขอใช้เงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ จากอุทยานแห่งชาติทุกโครงการ ควรผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ และให้คณะกรรมการดังกล่าวมีส่วนร่วมในการตรวจติดตามแผนงาน/โครงการและกิจกรรมด้วย

3. ด้านการบริหารจัดการ

          3.1 การบริหารงานบุคคล

                3.1.1 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดระบบการสรรหาและหลักเกณฑ์ในการดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ด้วยความโปร่งใส เป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล เช่น การจัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) เป็นต้น รวมทั้งมีระบบติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ

                3.1.2 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง จัดให้มี “ระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในการป้องกันรักษาพื้นที่ป่าไม้”

                         โดยให้ระเบียบดังกล่าว มุ่งคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติในภาคสนามทุกระดับ ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานพิทักษ์ป่า ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานจ้างเหมา ประกอบด้วย บำเหน็จความชอบที่เป็นตัวเงิน ได้แก่ เงินค่าตอบแทนพิเศษ การประกันชีวิต เป็นต้น และ บำเหน็จความชอบที่มิใช่ตัวเงิน ได้แก่ การยกย่องเชิดชูเกียรติ การสงเคราะห์และช่วยเหลือทายาท เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ และแรงจูงใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และลดโอกาสในการในการทุจริต

          3.2 การส่งเสริมการมีส่วนร่วม ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการ ดังนี้

                3.2.1 ให้ความสำคัญกับคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ โดยเปิดโอกาสให้ คณะกรรมการฯ มีส่วนร่วมในการเสนอแนะแนวทางหรือข้อคิดเห็นต่าง ๆ ในการพัฒนาและบริหารอุทยานแห่งชาติ เช่น การทำแผนแม่บทการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ การให้ความเห็นชอบแผนงาน/โครงการ ต่าง ๆ ของอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น

                3.2.2 ให้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ ในทุกอุทยานแห่งชาติ โดยกระบวนการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวต้องใช้การมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยงาน ภาครัฐในพื้นที่ ภาคประชาชน ภาคเอกชน เป็นต้น เพื่อให้แผนแม่บทมีความครอบคลุมภารกิจสำคัญ มีทิศทาง เป้าประสงค์และยุทธศาสตร์ตลอดจนปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จที่ชัดเจน และอุทยานแห่งชาติสามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และใช้เป็นกรอบในการติดตามประเมินผลได้ 

 

Related