จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 273
วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 22 มกราคม 2562
ความเป็นมา
ด้วยนโยบายยกระดับราคาข้าว ในช่วงปี 2554 - 2557 ที่ผ่านมา เป็นนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิต โดยเป็นการเข้าไปแทรกแซงกลไกราคาและตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในการระบายข้าวของรัฐบาลในขณะนั้น ได้กำหนดให้การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการบิดเบือนวิธีการผิดไปจากระเบียบวิธีการค้าระหว่างประเทศตามรูปแบบรัฐต่อรัฐ อีกทั้งมีการกล่าวอ้างข้อจำกัดทางการค้าซึ่งเป็นความลับที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ และเป็นช่องทางของการทุจริตในการบริหารราชการ รวมถึงการปกปิดข้อมูลเพื่อไม่ให้ได้รับการตรวจสอบ โดยเฉพาะรายละเอียดของคู่สัญญา ข้อตกลง และเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศเป็นอย่างมาก
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริต กรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ จากโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้
ข้อเสนอแนะ
ด้านนโยบาย
1. รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนที่มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกร โดยจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่จะช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง สามารถดำเนินการช่วยเหลือสินค้าเกษตรให้มีราคาสูงขึ้น โดยใช้กลไกของการเพิ่มตลาดและลดต้นทุนการผลิต
2. สำหรับการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวดำเนินการเท่าที่จำเป็น ยึดหลักประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงต้นทุนและผลประโยชน์ของนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาระทางการคลัง
3. คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ควรกำหนดกรอบนโยบายและเป้าหมาย ของการบริหารจัดการเรื่องข้าวในแต่ละปีอย่างเหมาะสม
ด้านการดำเนินงานของหน่วยงาน
1. ขั้นตอนก่อนการระบายข้าว
1.1) เห็นควรให้ข้าราชการประจำ ของกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เพื่อระบายข้าวอย่างเหมาะสม ภายใต้กรอบนโยบายและความรับผิดชอบที่ชัดเจนของรัฐบาล
1.2) ในการดำเนินการของคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ควรจัดให้มีช่องทางการรับฟัง
ความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวต่อสาธารณะ
1.3) เห็นควรให้กรมการค้าต่างประเทศ กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์หรือคู่มือที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้
อ้างถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ในการกำหนดให้มีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ
2. วิธีการระบายข้าว
เห็นควรให้กรมการค้าต่างประเทศ พิจารณาระบายข้าวด้วยวิธีอื่น ได้แก่ การระบายข้าวภายในประเทศให้กับบริษัทเอกชน ควรใช้วิธีการประมูลที่โปร่งใสและเปิดเผย แต่ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนอาจประสานกับผู้ประกอบการค้าข้าวโดยนำรายชื่อมาจากสมาคมผู้ค้าข้าว ซึ่งจะต้องเป็นผู้ค้าข้าวจริง ไม่ใช่นายหน้าเข้ามาแข่งขัน และการส่งเสริมการระบายข้าวในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยให้พัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ให้เป็นแหล่งสำคัญของการระบายข้าว
3. ขั้นตอนการพิจารณาสัญญาก่อนลงนามในสัญญาระบายข้าว
ให้กรมการค้าต่างประเทศ จัดทำสัญญามาตรฐานเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ (Standard contract) โดยคำนึงถึงการตรวจสอบคู่สัญญา เกี่ยวกับสถานการณ์เป็นตัวแทนของรัฐบาลกลาง
การส่งมอบข้าว การชำระเงิน และราคาข้าว มาพิจารณาประกอบการจัดทำสัญญาดังกล่าวด้วย ดังนี้
3.1 คู่สัญญาของรัฐ ต้องเป็นรัฐบาลกลางหรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
ให้ดำเนินการแทนรัฐบาลกลางเท่านั้น
3.2 วิธีการส่งมอบข้าว ไม่ควรส่งมอบเข้าแบบหน้าทำสินค้า (Ex Warehouse) และควรกำหนดวิธีการควบคุม เพื่อให้มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง
3.3 วิธีการชำระเงิน ควรชำระเงินค่าข้าวผ่านทางธนาคาร โดยวิธี letter of credit (L/C)
3.4 ราคาข้าว ไม่ควรกำหนดราคามิตรภาพหรือราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด
รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข เกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ โดยอาจดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานอัยการสูงสุด
4. การเปิดเผยข้อมูลการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้สาธารณชนทราบ
เห็นควรให้กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยสัญญาการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ
ทั้งฉบับ ไปหากรมการค้าต่างประเทศไม่สามารถเปิดเผยสัญญาทั้งฉบับได้ ควรเปิดเผยข้อมูลบางส่วนของสัญญา เช่น ปริมาณข้าว ชนิดของข้าว ราคาข้าว วิธีการส่งมอบข้าว และการชำระเงิน เป็นต้น พร้อมทั้งจัดทำคู่มือเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว เพื่อให้ร่วมกันตรวจสอบการบริหารงานของภาครัฐ
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริต กรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ จากโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ได้แก่ มาตรการด้านนโยบาย เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการแทรกแซงกลไกตลาดสินค้าข้าว และมาตรการด้านการดำเนินงานของหน่วยงานในขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งขั้นตอนก่อนการระบายข้าว วิธีการระบายข้าว ขั้นตอนการพิจารณาสัญญาก่อนลงนามในสัญญาระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และการเปิดเผยข้อมูลการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้สาธารณชนรับทราบ ตามที่คณะกรรม ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐจากโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และแนวทางการปฏิบัติงานในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมการค้าต่างประเทศจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ สำหรับเจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศใช้ในการดำเนินงานต่อไปในอนาคต ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้จัดทำแนวทางปฏิบัติดังกล่าวแล้ว โดยเกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาในขั้นตอนการดำเนินการ คือ ขั้นตอนการระบายข้าว ขั้นตอนการพิจารณาสัญญาก่อนลงนามในสัญญาระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และการชี้แจงเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้สาธารณชนทราบ