Contrast
banner_default_3.jpg

ข้อสังเกตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่ง

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 935

06/11/2563

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 8 มกราคม 2562

 

ความเป็นมา

           ด้วยสำนักงาน ป.ป.ช ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนว่า ข้าราชการบางหน่วยงานซึ่งมิได้ดำรงตำแหน่งที่ราชการจัดรถประจำตำแหน่งให้ ได้นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่ง และเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากทางราชการ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นจำนวนมาก สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้มีหนังสือที่ ปช 0003/0094 ลงวันที่ 19 กันยายน 2559 แจ้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ส่วนกลางเสมือนรถประจำตำแหน่ง ไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รักษาการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้กำกับดูแล ควบคุม และตรวจสอบ ว่าข้าราชการผู้ใดที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งที่มีรถประจำตำแหน่งจะนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่งไม่ได้ ข้าราชการผู้ใดกระทำการดังกล่าว ให้ถือว่ามีความผิดวินัยร้ายแรงด้วย

           ต่อมา สำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ นร 0106/528 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2560 เรื่อง ข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนรถประจำตำแหน่ง แจ้งไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  1. สำนักนายกรัฐมนตรีได้นำข้อสังเกตฯ ดังกล่าว เสนอคณะกรรมการรถราชการพิจารณา และที่ประชุมฯ มีมติมอบหมายให้สำนักนายกรัฐมนตรี กลับไปพิจารณาแจ้งเวียนซักซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับการนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้ในลักษณะที่ไม่ใช่เป็นการใช้เพื่อส่วนรวมของส่วนราชการ หรือไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของทางราชการ รวมทั้งการนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนรถประจำตำแหน่ง ตลอดจนการเก็บรักษารถส่วนกลางไว้ที่อื่นเป็นการชั่วคราวหรือเป็นครั้งคราว ซึ่งอาจเปิดช่องให้มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้รถราชการและการเก็บรักษารถราชการตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งแนบข้อสังเกตฯ ของคณะกรรมการป.ป.ช.ไปให้ส่วนราชการต่าง ๆ ที่อยู่ในบังคับระเบียบฯ ทราบและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว

  2. เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใช้บังคับแก่ส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม สำนักงาน หน่วยงานอื่นใดของรัฐ ทั้งในส่วนกลางส่วนภูมิภาคหรือในต่างประเทศ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น กรณีจึงอาจมีรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะ
    เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นโดยทั่วไป ซึ่งมีกฎหมายระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับรถราชการกำหนดขึ้นใช้บังคับเองเป็นการเฉพาะ ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงอาจพิจารณาแจ้งข้อสังเกตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ไปให้รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่น ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นดังกล่าวเพื่อทราบต่อไปด้วย

           คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 1006 - 77/2561 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ได้พิจารณากรณีการนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนของรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์การมหาชน และเห็นว่าระเบียบการใช้รถของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนมีความหลากหลายและมีรายละเอียดแตกต่างกัน ประกอบกับเมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 พบว่าระเบียบฯ กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน ยกเว้นการกำหนดบทลงโทษ ซึ่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ใดกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ หรือกระทำการโดยมีเจตนาทุจริต หรือปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หรือตามกฎหมายเฉพาะ
ของส่วนราชการนั้น” ขณะที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ไม่มีการบัญญัติบทลงโทษไว้แต่อย่างใด

 

ข้อเสนอแนะ

           ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งตระหนักถึงปัญหาของการนำรถยนต์ส่วนกลางของรัฐไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน และลดจำนวนการร้องเรียนเรื่องการนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่ง และเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากทางราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 แจ้งข้อสังเกตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการใช้รถส่วนกลางเสมือนรถประจำตำแหน่งไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีสั่งการให้รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์การมหาชน ปฏิบัติตามข้อสังเกตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว โดยเคร่งครัดต่อไป

 

มติคณะรัฐมนตรี

           คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 รับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่ง สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าข้าราชการบางหน่วยงานซึ่งมิได้ดำรงตำแหน่งที่ราชการจัดรถประจำตำแหน่งให้ ได้นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่งและเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากทางราชการ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้แจ้งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รักษาการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ควบคุมและตรวจสอบกรณีดังกล่าว ซึ่งต่อมาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งข้อสังเกตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ที่อยู่ในบังคับของระเบียบฯ ทราบและถือปฏิบัติตามระเบียบฯ อย่างเคร่งครัดแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระเบียบฯ ไม่ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจ อปท. และองค์การมหาชน ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานดังกล่าวปฏิบัติกำกับ ควบคุม ดูแล และตรวจสอบว่าผู้ใดที่มิได้ดำรงตำแหน่งที่มีรถประจำตำแหน่งจะนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้เสมือนรถประจำตำแหน่งมิได้ และผู้ใดกระทำการดังกล่าวให้ถือว่ามีความผิดวินัยร้ายแรงด้วย ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงาน ก.พ.ร. รับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การใช้รถยนต์ส่วนกลางของรัฐวิสาหกิจ อปท. และองค์การมหาชนเป็นไปตามข้อสังเกตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้ต่อไป โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดนำรถส่วนกลางไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่งให้ถือว่ามีความผิดวินัยร้ายแรง นั้น สมควรให้เป็นดุลยพินิจ
ของหน่วยงานแต่ละแห่งในการพิจารณาปรับปรุงระเบียบของหน่วยงานโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยของหน่วยงานนั้น ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย

 

 

 

Related