จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 265
วันที่คณะรัฐมนตรีมีติ : 15 ธันวาคม 2563
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
ปัญหาการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน เป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ พบว่า มีการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร กรณีดังกล่าวเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยภายในเรือนจำและทัณฑสถาน กระทำการทุจริตเป็นสำคัญ ซึ่งการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถานดังกล่าว สำเร็จโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐรู้เห็นเป็นใจและรับผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ต้องขังหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขบวนการลักลอบนำยาเสพติด อุปกรณ์สื่อสารเข้ามาภายในเรือนจำและทัณฑสถาน นั้น มีผลประโยชน์ตอบแทนสูง มีการทำงานเป็นขบวนการตั้งแต่เจ้าหน้าที่ประตูเรือนจำและทัณฑสถาน ตลอดจนการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นผู้ต้องขังหรือเจ้าหน้าที่ด้วยกัน หรือเกิดความเกรงใจไม่กล้าตรวจค้นผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่า จึงเกิดปัญหาการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถานขึ้น
เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตเกี่ยวกับการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
ข้อเสนอแนะ
1. กรณีผู้ต้องขังภายในเรือนจำที่เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเงินสามารถติดต่อสั่งการค้ายาเสพติดได้อย่างอิสระกับเครือข่ายภายนอกเรือนจำ
1) ให้เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศห้ามเจ้าหน้าที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่น ๆ ในเรือนจำและทัณฑสถาน
2) ให้มีกระบวนการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานกับผู้ให้บริการเครือข่ายในการตรวจจับสัญญาณการโทรออกเป็นรายวัน อาทิเช่น หมายเลขโทรศัพท์ต้นทาง หมายเลขโทรศัพท์ปลายทาง วันเวลาที่มีการโทร โดยมีการส่งข้อมูลให้หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และส่งข้อมูลรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบเพื่อจะลงโทษผู้บัญชาการเรือนจำ และขยายผลการปราบปรามโดยใช้ข้อมูลจากผู้ต้องขังที่ใช้โทรศัพท์
3) ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดให้การดำเนินการตามข้อ 2) เป็นหน้าที่ของผู้รับอนุญาตด้านโทรคมนาคมที่ต้องดูแลด้านความมั่นคงของรัฐเมื่อได้รับการร้องขอ ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของผู้รับใบอนุญาตที่จะต้องดำเนินการในทุก ๆ ด้าน หากไม่สามารถทำได้ตามสมควรอาจจะถูกพิจารณาเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตหรือยกเลิกใบอนุญาต
2. กรณีการตรวจพบยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน
1) ให้กรมราชทัณฑ์เปิดเผยผลการตรวจจับยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายในเรือนจำและทัณฑสถานให้สาธารณชนได้รับทราบ
2) กรณีตามข้อ 1) ให้กรมราชทัณฑ์เปิดเผยผลการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบซื้อขายยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายภายในเรือนจำและทัณฑสถานด้วย
3. กรณีผู้ต้องขังให้สินบนกับเจ้าหน้าที่เพื่อใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ทำให้เกิดการซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน
1) ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาประกาศกำหนดตำแหน่งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
2) ให้กระทรวงยุติธรรมโดยกรมราชทัณฑ์ จัดทำแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินคดีอาญาและการลงโทษทางวินัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิด โดยให้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้ ในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนั้น ผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ในแต่ละชุดจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
4. กรณีผู้ต้องขังในเรือนจำที่เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเงินสามารถสั่งการให้เครือข่ายค้ายาเสพติดข่มขู่หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่
1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมราชทัณฑ์ สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงาน ป.ป.ง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน กสทช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดให้มีชุดปฏิบัติการพิเศษร่วมมือกันทำงานเป็นการถาวร และรัฐบาลจะต้องสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการการทำงานในการแก้ไขปัญหาการซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้อง โดยให้กรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ และให้รัฐบาลมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแล
ทั้งนี้ ให้ชุดปฏิบัติการพิเศษ สังเกตการณ์ ควบคุมดูแลผู้ต้องขังคดียาเสพติดรายใหญ่ที่ถูกคุมตัวในเรือนจำความมั่นคงสูงสุด เป็นกรณีพิเศษ
2) เนื่องจากบางกรณีเจ้าหน้าที่อาจถูกบีบบังคับจากผู้มีอิทธิพลและเมื่อร้องเรียนตามกระบวนการที่ได้กำหนดไว้แล้วแต่ไม่มีผลการดำเนินการที่จะคุ้มครองเจ้าหน้าที่ได้ ให้เจ้าหน้าที่ร้องเรียนต่อชุดปฏิบัติการพิเศษตามข้อ 1) เพื่อดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
มติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ลงมติว่า
1. รับทราบมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตเกี่ยวกับการลักลอบซื้อขายยเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
2. มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตเกี่ยวกับการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน ไปถือปฏิบัติหรือดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมทั้งข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
ความเห็นของหน่วยงาน
ความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ความเห็นของกระทรวงมหาดไทย
ความเห็นของสำนักงบประมาณ
ความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด)
ความเห็นของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา