Contrast
banner_default_3.jpg

ข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 842

//543

วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ : 2 พฤษภาคม 2560

 

ที่มา/ความสำคัญ

          ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) เป็นดัชนีที่สะท้อนภาพลักษณ์ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) เป็นประจำทุกปี นักลงทุนหรือนักธุรกิจหลายประเทศใช้ดัชนีการรับรู้การทุจริตเพื่อประเมินความน่าสนใจลงทุนของแต่ละประเทศ โดยเห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยปัจจัยที่เป็นต้นทุนหรือเป็นความเสี่ยงในการเข้ามาประกอบธุรกิจ

          สำหรับประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับดัชนีการรับรู้การทุจริต โดยกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ในหัวข้อยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบและธรรมาภิบาลในสังคมไทย โดยมีเป้าหมายที่ 3 เพิ่มคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตให้สูงขึ้น และตัวชี้วัดเป้าหมายแผนฯ 12 คือ ระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต สูงกว่าร้อยละ 50 ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็ได้กำหนดดัชนีการรับรู้การทุจริตเป็นเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) โดยกำหนดระดับคะแนนให้สูงกว่าร้อยละ 50 ด้วยเช่นเดียวกัน

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การศึกษาวิเคราะห์ดัชนีการรับรู้การทุจริต พร้อมกับมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการ จะทำให้การยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตเป็นไปในทิศทางเดียวกันและส่งผลเชิงบวกต่อค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตอย่างมีนัยสำคัญ จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต โดยมีประเด็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ดังนี้

ข้อเสนอแนะ

  1. ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย

          1.1 การกำกับและติดตามหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตของรัฐบาล

          1.2 การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและความสำคัญของดัชนีการรับรู้การทุจริตแก่ทุกภาคส่วน

          1.3 การกำกับ ติดตามให้หน่วยงานภาครัฐแก้ปัญหาตามแนวทางการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA)

          1.4 การประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

          1.5 การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนดัชนีการรับรู้การทุจริต

          1.6 การเสริมสร้างทัศนคติของข้าราชการให้ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการ

  1. ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจ

          การประสานความร่วมมือหรือมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และคณะอนุกรรมการชุดที่ 6 ด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบูรณาการ ดำเนินการขับเคลื่อนตามข้อเสนอแนะของแต่ละแหล่งข้อมูล

  1. ข้อเสนอแนะด้านกระบวนการยุติธรรม

          รัฐบาลรวมทั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ควรปรับปรุงการดำเนินการของหน่วยงานการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้

          3.1 กำหนดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี กำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาคดีอย่างเป็นรูปประธรรม

          3.2 จัดให้มีการยกระดับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

          3.3 การจำแนกประเภทคดีและจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต

          3.4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทุจริต อาทิสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ควรมีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานและมีความชัดเจนกับการตรวจสอบประเด็นปัญหาต่าง ๆ

          3.5 การติดตามการบังคับใช้พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปประธรรม

 

  1. ข้อเสนอแนะด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน

          4.1 ด้านการประชาสัมพันธ์

          เห็นควรกำหนดให้ทุกหน่วยงานภาครัฐจัดทำฐานข้อมูล เช่น กฎหมาย ระเบียบ คู่มือการติดต่อราชการให้เป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งข่าวเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้วย โดยเริ่มต้นจากหน่วยงานภาครัฐซึ่งเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อน

          4.2 ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

                   4.2.1 เห็นควรส่งเสริมให้มีเวทีแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ หรือการจัดประชุมเสวนาในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น

                   4.2.2 กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งระบบ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

                   4.2.3 กำหนดให้มีศูนย์ข้อมูลราคากลางเฉพาะด้าน เพื่อรวบรวมข้อมูลราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานแต่ละแห่งในด้านนั้น ๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

                   4.2.4 เสนอกฎหมายในการส่งเสริมเสรีภาพของสื่อมวลชน ในการติดตามเสนอข่าวสารประเด็นต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ

มติคณะรัฐมนตรี

          สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0506/9544 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2560 แจ้งมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานหลัก รับเรื่องข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรว'ศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว และให้สำนักงาน ป.ป.ท. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

          ต่อมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/15784 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 แจ้งว่า สำนักงาน ป.ป.ท. ได้เสนอผลการพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 รับทราบผลการพิจารณาข้อเสนอแนะ เพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่สำนักงาน ป.ป.ท. เสนอ

 

 

Related