Contrast
banner_default_3.jpg

ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมตรวจสอบการดำเนินกิจการของนิติบุคคลเอกชน กรณีการตรวจสอบบัญชีของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 269

28/10/2565

ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมตรวจสอบ
การดำเนินกิจการของนิติบุคคลเอกชน กรณีการตรวจสอบบัญชี
ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

(มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 73/2565 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565)

สภาพปัญหาและข้อเท็จจริง

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องกล่าวหาร้องเรียน กรณีผู้กล่าวหาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ยื่นเรื่องขอให้ นาย ว. ตำแหน่งพาณิชย์จังหวัด ในฐานะสารวัตรบัญชี ผู้ถูกร้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบริษัทเอกชนที่ตนถือหุ้นอยู่ได้ยื่นแบบนำส่งงบการเงินโดยมีการลงข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชี ปกปิดรายได้จากการขายทรัพย์สินเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์อันควรได้ และผู้สอบบัญชีได้รับรองงบการเงินไม่ถูกต้อง โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง ตลอดจนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และแนวปฏิบัติของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งไม่สามารถทำให้การควบคุมตรวจสอบการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของนิติบุคคลเอกชนดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กระบวนการคุ้มครองสิทธิหรือผลประโยชน์ของสาธารณชนมีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งจากการศึกษา พบปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ (1) การขาดแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ สำหรับกรณีที่มีผู้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบบัญชีของนิติบุคคลเอกชน (2) การขาดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 (3) การสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ประชาชน และ (4) การตรวจสอบการดำเนินกิจการของนิติบุคคลเอกชนในภาพรวมยังขาดประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะ (โดยสรุป)

          สำนักงาน ป.ป.ช. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ประสานไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเสนอ “ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมตรวจสอบการดำเนินกิจการของนิติบุคคลเอกชน กรณีการตรวจสอบบัญชีของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” โดยมีข้อเสนอแนะทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สรุปว่า ข้อเสนอแนะระยะสั้น ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พิจารณากำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของสารวัตรใหญ่บัญชีและสารวัตรบัญชี สำหรับกรณีที่มีผู้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบบัญชีหรืองบการเงินของนิติบุคคลเอกชนเป็นการเฉพาะ ให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของสารวัตรใหญ่บัญชีและสารวัตรบัญชี ในการใช้อำนาจตามมาตรา 22 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของสารวัตรใหญ่บัญชีและสารวัตรบัญชี ในการตรวจสอบบัญชีและงบการเงินของนิติบุคคลเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้สำนักงานกลางบัญชี และสำนักงานบัญชีประจำท้องที่ทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับทราบถึงสิทธิตามกฎหมายในการตรวจสอบการดำเนินกิจการของนิติบุคคลเอกชนในช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งปรับบทบาทในการเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานกับหน่วยงานของรัฐ ข้อเสนอแนะระยะยาว เสนอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ควรพัฒนาบทบาทและศักยภาพในการตรวจสอบบัญชีหรืองบการเงิน รวมทั้งการกำกับดูแลการดำเนินกิจการของนิติบุคคลเอกชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีของบริษัทเอกชนรายที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทย ควรจะมีกลไกการตรวจสอบอย่างละเอียดเช่นเดียวกับการตรวจสอบงบการเงินของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งหากพบว่างบการเงินของบริษัทเอกชนใดมีข้อผิดพลาด คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็จะสั่งให้บริษัทเอกชนนั้น ๆ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ก่อนจะประกาศในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งกลไกการตรวจสอบเช่นนี้ จะเป็นการรักษาและคุ้มครองประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย

 

 

Related