Contrast
banner_default_3.jpg

ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีเงินอุดหนุนที่รัฐอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 3104

07/04/2566

ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กรณีเงินอุดหนุนที่รัฐอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ที่มาและความสำคัญ

ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษา ปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีเงินอุดหนุนที่รัฐอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพบว่า ปัญหาการกระทำทุจริตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณงบเงินอุดหนุนที่เกิดจากการกระทำทุจริตในหลายขั้นตอน ทั้งในด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง วิธีการและแนวทางปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงาน ที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริต ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขอเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีเงินอุดหนุนที่รัฐอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อคณะรัฐมนตรี

ข้อเสนอแนะ

เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีเงินอุดหนุนที่รัฐอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีเงินอุดหนุนที่รัฐอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้

1) ข้อเสนอด้านการจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน

          (1) เพื่อเป็นการลดปัญหาความไม่เป็นธรรมและการทุจริตจากการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน รัฐบาลควรมีนโยบายและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งวิธีการและระยะเวลาในการส่งเสริมและพัฒนารายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายกำหนดแหล่งรายได้และวิธีการหารายได้ การจัดระบบภาษี หรือการจัดแบ่งภาษีระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอ สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ลดการพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาลให้น้อยที่สุดจนกระทั่งหมดไปในอนาคต นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 250 ซึ่งกำหนดว่า รัฐต้องดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีรายได้ของตนเองโดยจัดระบบภาษีอากรหรือการจัดสรรภาษีอย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมพัฒนารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างเพียงพออีกด้วย

          (2) ในขณะที่รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีรายได้ของตนเองอย่างเพียงพอต่อการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบเงินอุดหนุนทั่วไป โดยลดการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งมักมีปัญหาการทุจริตจากการวิ่งเต้นและการบริหารงบประมาณให้เหลือน้อยที่สุด เนื่องจากเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเป็นการจัดสรรงบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจัดทำโครงการเพื่อทำคำขอรับการพิจารณาจัดสรรตามนโยบายและเงื่อนไขที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด ซึ่งนอกจากก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 250 วรรค 5 ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลังของตนเอง ทั้งนี้ หากรัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดสรรในรูปแบบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการตามนโยบายและเงื่อนไขของรัฐก็สามารถทำได้ แต่ควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการจัดสรร รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณให้รัดกุม และไม่ควรนับว่าเงินอุดหนุนเฉพาะกิจอยู่ในสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล

          (3) การจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงบประมาณ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นควรร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และตัวชี้วัดอย่างชัดเจน เพื่อลดอำนาจการใช้ดุลพินิจ (Discretionary Power) ในการจัดสรรโดยมิชอบ เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ ตัวชี้วัด ลักษณะของโครงการที่หากไม่มีการดำเนินการแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนจำนวนมาก การกำหนดคุณสมบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โดยพิจารณาจากฐานะทางการเงินการคลังและเงินสะสมที่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการด้วยงบประมาณของตนเอง เป็นต้น

          นอกจากนี้ การพิจารณาคำขอตั้งงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ (หากเป็นกรณีขอรับการจัดสรรที่ยังต้องผ่านการพิจารณาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) ควรดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการที่เป็นกลาง เช่น ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เป็นต้น เพื่อให้การพิจารณาจัดสรรงบประมาณเป็นไปด้วยความโปร่งใส เปิดเผยและเป็นธรรม ปราศจากการวิ่งเต้น ต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ทั้งนี้ ในการพิจารณาควรกำหนดให้มีการจัดทำบัญชีโครงการคำขอรับการจัดสรร โดยจัดลำดับความสำคัญตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และประชาสัมพันธ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบอย่างเปิดเผย อนึ่ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดทำคำขอรับการจัดสรรล่วงหน้า โดยมีระยะเวลาเพียงพอต่อการดำเนินการอย่างรอบคอบ และเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ด้วย

          (4) เพื่อให้การดำเนินการจัดทำคำขอและจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณพ.ศ. 2561 สำนักงบประมาณ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรเร่งดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานที่ขอรับเงินงบประมาณโดยตรง เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และให้ใช้บังคับตั้งแต่คำของบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

2) ข้อเสนอด้านการนำเงินอุดหนุนไปจัดทำข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ และการบริหารจัดการงบประมาณเงินอุดหนุน

          (1) กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมและเข้มข้นในทุกกระบวนการ ซึ่งนอกเหนือจากกระบวนการการประชาคมเพื่อจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นแล้ว ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่าย การมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของสภาท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความโปร่งใส ป้องกันความร่วมมือระหว่างผู้บริหารกับสมาชิกสภาท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณ จะช่วยลดปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุอีกด้วย

          (2) กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่นและประชาชน ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่และอำนาจกฎหมาย ระเบียบ และข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการตรวจสอบถ่วงดุลกับผู้บริหารท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          (3) กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ควรส่งเสริมและพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในด้านประสิทธิภาพความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และความก้าวหน้า เพื่อให้การตรวจสอบภายในเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ช่วยยับยั้งป้องกันความเสียหายจากการดำเนินงานที่ผิดพลาด หรือการทุจริตภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง และต้องเปิดเผยผลการตรวจสอบภายในดังกล่าวให้สาธารณชนหรือประชาชนทราบด้วย

          (4) เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณเงินอุดหนุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในการดำเนินการ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการดำเนินการที่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยการใช้เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ต้องมีการจัดทำรูปแบบรายการหรือการกำหนดราคากลางในลักษณะเดียวกับส่วนราชการทั่วไป และจะสามารถเบิกเงินงบประมาณดังกล่าวได้ต่อเมื่อมีการตรวจรับแล้ว

3) ข้อเสนอด้านการติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน

         (1) เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการทุจริตหรือความผิดพลาดในการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนอันเนื่องมาจากการจัดเก็บข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่เป็นระบบ ไม่มีความเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลควรดำเนินการให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analyze) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความมั่งคงปลอดภัย มีการบูรณาการ สามารถใช้ข้อมูลในการทำงานร่วมกัน (Data Integration and Inter-operation) และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดำเนินการที่เป็นปัจจุบัน (Real-time) ซึ่งมีประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย และมีการเปิดเผยข้อมูล (open data) ให้ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานตรวจสอบสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการทุจริตหรือความผิดพลาดในการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนได้

          (2) กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรกำหนดรูปแบบการรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการดำเนินงาน การเงินการคลัง และงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้โดยง่าย ทั้งนี้ การกำหนดรูปแบบการรายงานควรทำให้ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชนทุกระดับและควรกำหนดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 253 ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เปิดเผยข้อมูล และรายงานผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ

          (3) กระทรวงมหาดไทย ควรกำชับให้ผู้ใช้อำนาจในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ) ตรวจสอบ ติดตาม และการรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ลดการทุจริตหรือการทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ มีอำนาจในการชี้แจง แนะนำ ตักเตือน มีอำนาจในการตรวจสอบเรียกรายงานและเอกสาร รวมถึงมีอำนาจในการเรียกสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือพนักงานข้าราชการท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล) มาชี้แจงหรือสอบสวน หากผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เห็นว่ามีการปฏิบัติอันอาจสร้างความเสียหายต่อราชการ ก็มีอำนาจในการเพิกถอนหรือระงับการกระทำดังกล่าวตามกระบวนการขั้นตอนที่กำหนดไว้ ดังนั้น หากพบว่าผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายมีการปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้มีอำนาจกำกับดูแลควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการกระทำความผิดนั้นด้วย

          (4) กระทรวงมหาดไทย ควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งใช้ระบบการจ่ายเงินโดยให้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 52 โดยเร็ว ซึ่งการใช้ระบบการจ่ายเงินในรูปแบบดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาการทุจริตในการใช้จ่ายเงินอุดหนุนลงได้

          (5) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ. 2561 ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการใช้จ่ายและการบริหารเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการหรือไม่ และตรวจว่าการใช้จ่ายเงินหรือการใช้ประโยชน์นั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีความเสี่ยงในการใช้จ่ายหรือบริหารเงินอุดหนุนที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์หรือเกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสในการเกิดการทุจริตอันเป็นการป้องกันการทุจริตเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหากพบพฤติการณ์เข้าข่ายการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางวินัย แพ่ง และอาญา แล้วแต่กรณี รวมถึงมีข้อเสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่กำกับดูแลดำเนินการใช้จ่ายและบริหารเงินอุดหนุนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป

Related