Contrast
banner_default_2.jpg

ข้อเสนอแนะการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ ในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 367

23/09/2567

ข้อเสนอแนะการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ ในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 

ที่มาและความสำคัญ

   ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษา การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ ในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยอำนาจในการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ คือ อำนาจที่กฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานของรัฐตัดสินใจได้อย่างอิสระที่จะเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อมีข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้เกิดขึ้นตามสมควร เหตุที่กฎหมายกำหนดให้ใช้ดุลพินิจ เนื่องจากกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ไม่ได้มีเนื้อหาสาระครอบคลุมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ทุกกรณี ดังนั้น กฎหมายจึงได้บัญญัติ โดยเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานของรัฐมีการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงาน แต่ในขณะเดียวกันการให้อำนาจในการใช้ดุลพินิจก็อาจส่งผลให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์หรือเรียกรับค่าตอบแทนจากการใช้อำนาจดังกล่าว ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงในการที่เจ้าพนักงานของรัฐใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสมหรือผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย จนทำให้กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจะเกิดผลกระทบในภาพรวมต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ และก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตตามมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขอเสนอข้อเสนอแนะการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ ในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ต่อคณะรัฐมนตรี

ข้อเสนอแนะ

   เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ ในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นควรมีข้อเสนอแนะการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ ในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้

   1) การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจ

          (1) ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต พิจารณาว่าในกระบวนงาน การอนุมัติ การอนุญาตใดบ้าง ที่มีความสำคัญและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่อาจเปิดช่องให้เจ้าพนักงานของรัฐสามารถใช้อำนาจดุลพินิจในทางทุจริต และให้หน่วยงานจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจ และระยะเวลาในการดำเนินการให้มีความชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

           ในการดำเนินการดังกล่าวต้องจัดทำเป็นหลักเกณฑ์หรือประกาศ แนวทาง และคู่มือ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องยึดถือเป็นหลักในการใช้ดุลพินิจ และควรมีหลักฐานหรือเอกสารที่ยืนยันว่ามีการใช้ดุลพินิจอย่างไร

           ทั้งนี้ ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ  ในการอนุมัติ อนุญาต โดยเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ ตามสื่อในช่องทางต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นได้ 

          (2) กรณีตามข้อ (1) ก่อนที่ผู้มีอำนาจจะใช้อำนาจดุลพินิจ หากเห็นว่าการใช้ดุลพินิจนั้นอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ต้องจัดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจนั้น เป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดโอกาสการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

          (3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เรื่อง มาตรการในการกำกับดูแลการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้รายงานผลการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรค ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทราบทุก 1 ปี

          (4) กำหนดให้การบัญญัติกฎหมายใหม่ควรกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา 77 วรรค 3 กำหนดไว้ รวมทั้งให้มีกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Analysis : RIA) ด้วย

2) การใช้เทคโนโลยีในการบริการประชาชน

          (1) ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต นำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาใช้ในการบริการประชาชน เพื่อลดช่องทางหรือโอกาสในการติดต่อระหว่างผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ ผู้อนุญาตโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้การอนุมัติ อนุญาต เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และรวดเร็วยิ่งขึ้น

          (2) กำหนดให้ทุกหน่วยงานปรับปรุงช่องทางการประเมินความพึงพอใจในการรับบริการและรับเรื่องร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะ เช่น รหัสคิวอาร์ (QR Code) เพื่อสำรวจความพึงพอใจในการรับบริการและการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการของเจ้าหน้าที่

3) การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต

         ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พัฒนาระบบเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน


4) การจัดทำแนวทางและคู่มือในการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

         ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐที่มอบอำนาจและภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกหน่วยงาน กำหนดแนวทางและจัดทำคู่มือในการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการอนุมัติ อนุญาต เพื่อมีมาตรฐานในการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

Related