Contrast
banner_default_3.jpg

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามนัยมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 64

23/09/2567

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามนัยมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 

ที่มาและความสำคัญ

   คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ และให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว อาทิ ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณายกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษทั้ง 7 ข้อ เนื่องจากเป็นช่องทางสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างการทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ โดยตรวจสอบ ติดตาม และสังเกตการณ์การดำเนินการรับนักเรียน ตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปีการศึกษา ๒๕๖๓ – ๒๕๖๖

   จากผลการดำเนินการดังกล่าว พบว่า มีเหตุอันควรระมัดระวังที่อาจเกิดช่องว่างในการทุจริตเกี่ยวกับการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษาโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังคงกำหนดนโยบายและแนวทางการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ และยังเปิดโอกาสให้โรงเรียนในสังกัด รับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษที่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ การดำเนินการดังกล่าว ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบการสอบคัดเลือกการรับนักเรียนอย่างยุติธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้

   ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรเสนอรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เรื่อง มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๓๕

ข้อเสนอแนะ

เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตกรณี การเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขอเสนอรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เรื่อง มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ตามมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ดังนี้

  1. กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรกำชับให้หน่วยงานในสังกัดเคร่งครัดการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่อง มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
         อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถพิจารณาดำเนินการศึกษาวิจัยโดยร่วมกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เพื่อศึกษาข้อดีข้อเสีย ประโยชน์ ผลกระทบต่อการพัฒนาระบบการศึกษา สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อประกอบการกำหนดแนวทางการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ เช่น การพิจารณานิยาม “เด็กนักเรียนผู้ยากไร้และด้อยโอกาส” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายในเชิงลบให้เป็นคำที่มีความหมายในเชิงบวกแทน เช่น “ด้านการสนับสนุนและเสริมสร้างเด็กเรียนดี” และ เงื่อนไขที่สนับสนุน “ด้านการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” เป็นต้น ทั้งนี้ หากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการศึกษาและไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา และไม่ก่อให้เกิดช่องว่างในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถเสนอขอมีเงื่อนไขพิเศษได้ในอนาคต
  2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาประกาศยกเลิกการเปิดโอกาสให้สถานศึกษาในสังกัด กำหนดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในนโยบายหรือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากการเปิดโอกาสดังกล่าว ทำให้เกิดการใช้ดุลพินิจของสถานศึกษาที่มีมาตรฐานในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน และอาจมีช่องว่างหรืออาจเกิดความเสี่ยงในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อแลกกับการเข้าเรียนในสถานศึกษาได้ง่ายขึ้น
  3. เพื่อเป็นการปฏิบัติตามหลักสิทธิของเด็กตามหลักการสิทธิมนุษยชนของเด็ก เนื่องด้วยตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child: CRC) การประกาศรายชื่อนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ ควรประกาศเฉพาะเลขประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือก แต่ยังคงให้มีการจัดทำฐานข้อมูลรายชื่อไว้เป็นความลับ และหากมีการขอตรวจสอบข้อมูลโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๕๐
  4. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาสุ่มตรวจการดำเนินการการรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบ ติดตาม สังเกตการณ์และให้แนะนำเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนเป็นประจำทุกปี
  5. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำแนวทางการดำเนินงาน เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณา และมีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำไปปฏิบัติต่อไป
    ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายงานผลการขับเคลื่อนมาตรการ ฯ เสนอต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปี

Related