Contrast
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 89

23/09/2567

มาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย 

ที่มาและความสำคัญ

ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษา การป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย ในการตรวจสอบการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย ตั้งแต่การพัฒนานโยบายที่ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทย นิยามนวัตกรรมไทย หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม และสิทธิพิเศษแก่หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย ตลอดจนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่ขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย การตรวจสอบราคาของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว รวมทั้งประกาศบัญชีนวัตกรรมไทย และการออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 หมวด 4 โดยผลการตรวจสอบพบปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ปัญหาการทุจริต และปัญหาที่นำไปสู่ความเสี่ยงการทุจริต ในช่วงการพัฒนานโยบายและช่วงการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เช่น ปัญหาการดำเนินนโยบายที่อาจมีอุปสรรค หากในอนาคตประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกความตกลงการค้าระหว่างประเทศ ปัญหานวัตกรรมไทยไม่มีความชัดเจน ปัญหาการแข่งขันไม่เป็นไปตามกลไกการตลาดอย่างเป็นธรรมและความเสี่ยงการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ ปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อยาในบัญชีนวัตกรรมไทย เป็นต้น จากสาระสำคัญและข้อเท็จจริงดังกล่าว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขอเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย ต่อคณะรัฐมนตรี

ข้อเสนอแนะ

เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้

1) ข้อเสนอแนะในช่วงการพัฒนานโยบาย

          ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ปัญหาการดำเนินนโยบายที่อาจมีอุปสรรค หากในอนาคตประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกความตกลงการค้าระหว่างประเทศ เห็นควรให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ นำแนวทางที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทางคือ แนวทางที่ 1 การขอใช้มาตรการในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional measures) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในไทย ทั้งความตกลง GPA และ CPTPP ที่มีบทระบุถึงมาตรการในระยะเปลี่ยนผ่านสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก และแนวทางที่ 2 การระบุข้อยกเว้นสำหรับภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย มาใช้ประกอบการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยเร็ว 


2) ข้อเสนอแนะในช่วงการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

          (1) ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน
                หน่วยงานที่รับช่วงภารกิจต่อจากคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้ 

                1) ปัญหานวัตกรรมไทยไม่มีความชัดเจน เห็นควรให้มีการกำหนดแนวทางในการให้สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยให้มีความแตกต่างกันตามระดับนวัตกรรมไทย ซึ่งอาจจำแนกระดับนวัตกรรมไทยออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับที่ 1 นวัตกรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และระดับที่ 2 นวัตกรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และในการจำแนกระดับนวัตกรรมไทยควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ชัดเจน และควรมีการพิจารณาให้ครอบคลุมถึงความเหมาะสมในประเด็นต่าง ๆ เช่น ความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยตลอดจนการมีหลักฐานปรากฏเป็นผลงานวิจัยของคนไทย การอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือการได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีของคนไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ได้รับประโยชน์ทางตรงคือ ประเทศไทย เป็นต้น

               2) ปัญหาผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากภาครัฐ เห็นควรให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยให้ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น โดยให้มีการกำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ความร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นต้น

               3) ปัญหาคุณสมบัติของผู้ขายผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ เห็นควรให้มีการกำหนดแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จำหน่ายและผู้แทนจำหน่ายให้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคากับหน่วยงานของรัฐก่อนประกาศขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย เช่น การเป็นผู้มีความสามารถตามกฎหมาย การไม่เป็นบุคคลซึ่งถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงาน การไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน การเป็นผู้มีอาชีพนั้นโดยตรง เป็นต้น

               4) ปัญหาผู้ประกอบการไม่แสดงข้อมูลโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย เห็นควรให้มีการกำหนดแนวทางในการให้สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยเพิ่มเติม เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย โดยมีสำนักงบประมาณเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาความลับข้อมูล

               5) ปัญหาระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยมีการกำหนดชื่อและรหัสผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยไม่ตรงกับชื่อและรหัสสินค้าหรือบริการในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เห็นควรให้มีการกำหนดแนวทางในการปรับปรุงฐานข้อมูลในระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยของสำนักงบประมาณให้มีชื่อและรหัสตรงกับชื่อและรหัสสินค้าหรือบริการในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง และในระยะยาวอาจพิจารณาจัดทำหมวดรายการผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยในระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยให้เป็นรหัสมาตรฐานสากล (UNSPSC)

               6) ปัญหาภาครัฐขาดการติดตามและประเมินผลการจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยที่มีประสิทธิภาพ เห็นควรให้มีการกำหนดแนวทางในการติดตามและประเมินผลการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยให้มีความชัดเจน เช่น แนวทางในการติดตามและประเมินผลการใช้งบประมาณภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย โดยการเชื่อมโยงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมนวัตกรรมกับระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement: e-GP) ของกรมบัญชีกลาง แนวทางในการติดตามและประเมินผลเมื่อหน่วยงานของรัฐมีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถจัดซื้อพัสดุส่งเสริมนวัตกรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

               7) ปัญหาภาครัฐขาดการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงาน เห็นควรให้มีการกำหนดแนวทางในการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีความประสงค์จะจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยถือปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน


3) ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาและความเสี่ยงการทุจริต

         (1) ปัญหาการแข่งขันไม่เป็นไปตามกลไกการตลาดอย่างเป็นธรรม และความเสี่ยงการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ เห็นควรให้หน่วยงานที่รับช่วงภารกิจต่อจากคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนแนวนโยบายที่ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมโดยตรงจากผู้ประกอบการที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย โดยผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมนั้นได้มีการกำหนดราคาไว้แล้ว ประกอบกับการให้สิทธิพิเศษแก่หน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบของงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อป้องกันมิให้แนวนโยบายดังกล่าวเป็นช่องว่างแห่งกฎหมาย (gap in the law) ที่นำไปสู่ความเสี่ยงการเป็นตลาดผู้ขายผูกขาด และความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย ทั้งนี้ อาจพิจารณาแนวทางในการให้สิทธิพิเศษแก่หน่วยงานของรัฐในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การให้แต้มต่อราคา

          (2) ปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อยาในบัญชีนวัตกรรมไทย เห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เช่น การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม และกฎหมายอื่นที่มีความเกี่ยวข้องให้แก่บริษัทผู้จำหน่ายยาให้เกิดความรู้ความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

          (3) ปัญหาการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เห็นควรให้สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง กำหนดแนวทางในการกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย ระเบียบ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ในเรื่องดังนี้

                1) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นต้องมีการสำรวจความต้องการของประชาชน และมีการสำรวจพื้นที่ในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง และมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสภาท้องถิ่นต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาท้องถิ่นอย่างรอบคอบ และควบคุมการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด

               2) การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และการขอรับการสนับสนุนงบประมาณงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณอย่างเคร่งครัด มีการสำรวจความพร้อมในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือมีเอกสารหลักฐานยืนยันความถูกต้องครบถ้วน และมีการกลั่นกรองโครงการและตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารโครงการอย่างรอบคอบ

               3) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุส่งเสริมนวัตกรรมต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 หมวด 4 ประกอบกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 48

               4) การกำหนดราคากลางพัสดุส่งเสริมนวัตกรรมต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 4(3) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

Related