Contrast
banner_default_3.jpg

ข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตในการบริหารจัดการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 148

23/09/2567

ข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตในการบริหารจัดการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต 

ที่มาและความสำคัญ

ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษา กรณีการกระทำทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ที่มีพฤติการณ์การโอนเงินให้กับผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับทุน แสดงให้เห็นความล้มเหลวในการโอนเงินจากกองทุนไปยังนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ การรั่วไหลของเงินกองทุนที่เกิดจากการทุจริตเป็นเหตุให้การใช้จ่ายเงินกองทุนไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ของเงินกองทุน ทั้งยังเป็นเหตุให้การพัฒนาระบบการศึกษามิได้เป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่ผู้สมควรได้รับเงินทุนการศึกษาดังกล่าวอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาการกระทำทุจริตการเบิกจ่ายเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ส่งผลกระทบเสียหายต่อผู้มีสิทธิได้รับทุน เป็นเหตุให้การพัฒนาระบบการศึกษามิได้เป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่ผู้สมควรได้รับเงินทุนการศึกษาดังกล่าวอย่างแท้จริง และสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณที่เกิดจากการกระทำทุจริต ซึ่งเป็นผลจากกฎ ระเบียบ ข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง วิธีการและแนวทางปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงในการกระทำทุจริต การขาดการควบคุมและตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของผู้มีหน้าที่และอำนาจ รวมทั้งระบบการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเสนอข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ต่อคณะรัฐมนตรี

ข้อเสนอแนะ

เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้

1) ข้อเสนอแนะต่อระบบการบริหารจัดการและการคัดเลือกนักเรียนทุน

          (1) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดแนวทางหรือรูปแบบการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตของกองทุน ในแต่ละกระบวนงาน ว่ามีความเสี่ยงต่อการทุจริตอะไรบ้าง และมีแนวทางในการควบคุมอย่างไร

          (2) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการตามข้อเสนอแนะการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเสนอแนะให้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจ ดังนี้
               โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการกำหนดทุนการศึกษา คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับทุน เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวต้องจัดทำเป็นหลักเกณฑ์หรือประกาศ แนวทาง และคู่มือ เป็นแนวทางในการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ/เจ้าหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ปฏิบัติจะต้องยึดถือเป็นหลักในการใช้ดุลพินิจ และควรมีหลักฐานหรือเอกสารที่ยืนยันว่ามีการใช้ดุลพินิจอย่างไร

          (3) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สร้างความโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ในการคัดเลือกผู้มีสิทธิได้รับทุน โดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่ได้รับการอนุมัติจัดสรรทุนต้องมีการประกาศรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เป็นข้อมูลสาธารณะ เช่น ประเภททุน จำนวนทุน หลักเกณฑ์การคัดเลือก รูปแบบการคัดเลือก หากกำหนดให้มีการสอบด้วยข้อเขียนและการสัมภาษณ์ ต้องมีการประกาศผลคะแนนตามลำดับผู้มีสิทธิได้รับทุน เป็นต้น รวมถึง อาจเปิดโอกาสให้แก่ภาคีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นแนวร่วมปฏิบัติเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินการ ระเบียบ/วิธี/มาตรฐานการคัดเลือก และร่วมตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับทุน

2) ข้อเสนอแนะต่อระบบการบริหารเงินกองทุนและการเบิกจ่ายเงินกองทุน

          (1) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซักซ้อมทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารเงินกองทุน และเบิกจ่ายเงินกองทุน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เจ้าหน้าที่กลุ่มบริหารงานคลังและสินทรัพย์ เจ้าหน้าที่สถานศึกษาที่ได้รับการจัดสรรทุน เพื่อเน้นย้ำวัตถุประสงค์ของกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องและสอดคล้องกับระเบียบวิธีปฏิบัติ และชี้ให้เห็นโทษของการทุจริตที่จะได้รับ

          (2) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำปฏิทินการดำเนินการ และระยะเวลาการเบิกจ่าย/โอนเงินที่ชัดเจน นอกจากนี้ อาจนำข้อมูลหรือความรู้เกี่ยวกับการบริหารเงินกองทุนและกระบวนการเบิกจ่ายเงินกองทุนตั้งแต่การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การเบิกจ่ายเงิน และการรายงานผลการใช้จ่าย มาสรุปเป็นข้อมูลสารสนเทศในลักษณะที่เข้าใจได้ง่าย เช่น ทำแผนผังหรือ Infographic เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าใจได้ง่ายและนำสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

3) ข้อเสนอแนะต่อระบบการติดตามและประเมินผล และการรายงานผลการดำเนินการเงินกองทุน

         (1) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มความเข้มงวดในขั้นตอนการตรวจสอบ ติดตาม/ประเมินผลภายในหน่วยงาน เช่น ใช้กลไกของการตรวจสอบภายใน ใช้การสอบทานของหน่วยงานเบิกจ่ายและหน่วยงานที่รับโอนเงิน เพิ่มบทบาทการตรวจสอบของคณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตและคณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตจังหวัดที่บริหารจัดการในระดับพื้นที่ รวมถึง ต้องให้ความสำคัญกับข้อสังเกตและคำแนะนำจากหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

          (2) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจัดทำข้อมูล/ข้อเท็จจริง เช่น รายละเอียดกองทุน รายงานผลการดำเนินการประจำปี รายงานการเงิน เงินคงเหลือ ปฏิทินการดำเนินการ การติดตามผลสัมฤทธิ์ของผู้ได้รับทุน และการส่งต่อนักเรียนที่สำเร็จการศึกษา เป็นต้น อีกทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวในลักษณะการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ผ่านวิธีการหรือเครื่องมือต่าง ๆ เช่น สื่อออนไลน์สาธารณะ เว็บไซต์ เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลที่จะสนับสนุนให้ภาคประชาชนทราบถึงการดำเนินงานกองทุนและเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแล และเฝ้าระวังการทุจริตในการดำเนินงานกองทุน

          (3) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาเพิ่มช่องทางการรายงานผลการดำเนินงานกองทุนให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เช่น ผ่านทางระบบออนไลน์ เป็นต้น โดยไม่ต้องจัดทำข้อมูลเป็นรายงานแบบกระดาษ เพื่อส่งให้กับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ดำเนินโครงการต้องมีการรายงานผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินโครงการทราบถึงความเคลื่อนไหวของการใช้จ่ายเงินกองทุนอย่างเป็นปัจจุบันยิ่งขึ้น

          (4) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มระบบการแจ้งเตือนข้อมูลเกี่ยวกับ การดำเนินงานของกองทุนให้แก่ผู้ได้รับทุน เช่น รายงานการดำเนินงานกองทุน สถานะการคัดเลือก และสถานะการโอนเงิน เป็นต้น โดยแจ้งเตือนผ่านช่องทางที่มีความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ได้รับทุนเข้าถึงข้อมูลที่เป็นปัจจุบันได้โดยง่าย อีกทั้ง เป็นช่องทางในการรักษาสิทธิของตนเองในการรับทุน

          (5) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดแนวทางและช่องทางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกองทุน สามารถร่วมประเมินผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนด้วย โดยต้องสามารถประเมินผลโครงการในมุมมองด้านประสิทธิภาพ และความพึงพอใจ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะอื่น ๆ

4) ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

         สืบเนื่องจากข้อพิจารณาเพิ่มเติมว่า แหล่งที่มาของเงินกองทุนและการใช้จ่ายเงินกองทุน ดำเนินการโดยใช้ทุนประเดิมซึ่งเป็นเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากการกุศลงวดพิเศษที่ได้รับการจัดสรรมาตั้งแต่กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเริ่มดำเนินการเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น จึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักถึงความจำเป็นที่คณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ต้องบริหารจัดการ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของกองทุน เช่น พิจารณาขอรับการจัดสรรเงินทุนจากแหล่งเงินงบประมาณอื่น ๆ นอกเหนือจากการใช้ทุนประเดิมจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
         อนึ่ง ข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น มุ่งเสนอต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการกองทุนเพื่อการศึกษาทั้งระบบ ควรนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปใช้กับกองทุนเพื่อการศึกษาอื่น ๆ ภายใต้สังกัดหน่วยงานอื่นด้วย 
         ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ “แนวทางการดำเนินการ” เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาและมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปปฏิบัติต่อไป และให้รายงานผลการขับเคลื่อนมาตรการเสนอต่อ สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปี

Related