Contrast
banner_default_3.jpg

มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 144

23/09/2567

มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ 

ที่มาและความสำคัญ

ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต รู้เห็นเป็นใจ และแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ปล่อยให้มีการลักลอบทำเหมืองแร่โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับนายทุนในขบวนการลักลอบทำเหมืองแร่ โดยการทำเหมืองแร่เป็นการทำอุตสาหกรรมกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งหากมีการทำเหมืองแร่โดยไม่ถูกต้องหรือลักลอบทำเหมืองแร่ เป็นการส่งผลกระทบต่อการคงอยู่ของสิ่งแวดล้อม กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสุขภาพชีวิตและอนามัยของประชาชนในพื้นที่และโดยรอบ ประกอบกับที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐโดยนักลงทุนต่างชาติ โดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ และการที่ไทยแพ้คดีที่ถูกเอกชนฟ้องร้องตามสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นจำนวนมาก และเป็นฝ่ายที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเป็นภาระด้านงบประมาณแผ่นดิน สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความเหมาะสมในการนำกระบวนการอนุญาโตตุลาการมาใช้กับการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับรัฐ
ฉะนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ปัญหาการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐโดยนักลงทุนต่างชาติโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ ต่อคณะรัฐมนตรี

ข้อเสนอแนะ

เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในอุตสาหกรรมแร่ เพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้

1) ช่วงการสำรวจแร่

          (1) ช่วงการขออาชญาบัตร เห็นควรเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
                ระดับนโยบาย
                - กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรธรณี
                  เนื่องจากเป็นเรื่องระดับนโยบายเห็นควรหารือร่วมกันเสนอคณะรัฐมนตรี ขอประกาศหรือกำหนดระเบียบ ให้พื้นที่ที่รัฐจัดสรรหรือออกให้ประชาชนเพื่อทำการเกษตรกรรม เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับทำการสำรวจแร่ และทำเหมืองทุกชนิด
                - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรธรณี
                  เพื่อประโยชน์ในการควบคุมสิ่งแวดล้อม ตลอดถึงปริมาณแร่ที่ค้นพบจากการสำรวจ เห็นควรกำหนดให้การสำรวจแร่เป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ทำการสำรวจแร่ ทั้งนี้ รัฐอาจจ้างภาคเอกชนดำเนินการ แทนการให้ภาคเอกชนขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจแร่เหมือนเช่นที่ผ่านมา

                ระดับหน่วยงาน
                - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรธรณี
                  กรณีพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมมีความไม่ชัดเจน เห็นควรให้กรมทรัพยากรธรณีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการกำหนดคำนิยามของคำว่า “พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม” ที่ชัดเจนไว้เป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
                - กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
                  1. ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พิจารณาเสนอเพิ่มเติมกฎหมายให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่วงการขออาชญาบัตร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง และในระหว่างการแก้ไขกฎหมายซึ่งต้องใช้เวลานานจึงควรออกประกาศให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่วงการขออาชญาบัตรไปก่อน
                  2. เพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการแร่

          (2) ช่วงระหว่างสำรวจแร่
               1. การทับซ้อนกันของพื้นที่หน่วยงานของรัฐ
                   - กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
                      เนื่องจากเป็นเรื่องระดับนโยบาย จึงควรเสนอคณะรัฐมนตรี ขอประกาศหรือกำหนดระเบียบ โดยกำหนดว่า พื้นที่ใดจะมีการทำเหมืองพื้นที่นั้นควรได้รับการรับรองเส้นแนวเขตในโซนเป็นที่ยุติ และเสนอคณะอนุกรรมการฯ (One Map) เพื่อพิจารณาเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณา แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบรับรองเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐเป็นรายพื้นที่เรียบร้อยแล้วจึงจะดำเนินการทำเหมืองได้
               2. ขาดการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้สำรวจแร่ และการเปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ ให้ประชาชนรับทราบ
                   - กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
                      เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการสำรวจแร่ เป็นพื้นที่บริเวณกว้างครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดจึงเห็นควรให้เปิดเผยข้อมูลส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนรับทราบและตรวจสอบได้ และให้ติดป้ายประชาสัมพันธ์แบบถาวรในพื้นที่เป็นจุด ๆ โดยแสดงข้อมูลที่สำคัญ เช่น รายนามผู้ได้รับอนุญาต จำนวนพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ระยะเวลาเริ่มต้น - สิ้นสุดการสำรวจแร่ วิธีการสำรวจแร่ และชนิดแร่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการสำรวจ
                      ทั้งนี้ ให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับพื้นที่ที่อนุญาตให้ทำเหมืองด้วย


2) ช่วงการประทานบัตร

          (1) ช่วงก่อนการทำเหมือง
               - กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
                 1. การรับฟังความเห็นของชุมชนในพื้นที่ไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วน มีรัศมีครอบคลุมพื้นที่ไม่เหมาะสม ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พิจารณาแก้ไขประกาศ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังความเห็น โดยกำหนดให้ประกาศเผยแพร่ให้ประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนภายนอกพื้นที่ สามารถเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและคัดค้านได้
                 2. กำหนดมาตรการเร่งรัดการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี
               - กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
                 ให้ดำเนินการติดตามและตรวจสอบการเข้าร่วมลงทุนของนักลงทุนต่างชาติโดยพิจารณาการลงทุนทั้งจากหุ้นโดยตรง หุ้นแฝง และการโอนเงินของผู้เกี่ยวข้องที่มีลักษณะของธุรกรรมอำพรางอย่างเคร่งครัด
               - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สำนักนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม                   
                  1) การจัดทำรายงาน EIA/EHIA ไม่มีคุณภาพไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
                      (1) ควรให้มีการเผยแพร่รายงาน EIA/EHIA ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาลงในเว็บไซต์เป็นระยะ ๆ เพื่อให้ประชาชนและภาควิชาการที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
                      (2) ควรนำรายงานการวิเคราะห์ EIA/EHIA ฉบับเต็มลงเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
                      (3) พิจารณาเสนอบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 กำหนดความรับผิดของหน่วยงานหรือองค์กร และเจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานหรือองค์กรที่รับใบอนุญาตเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีเจตนาจัดทำรายงานฯ เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงของโครงการอันเป็นสาระสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ให้ได้รับโทษ ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง
                  2) อายุของรายงาน EIA/EHIA
                      (1) เมื่อรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ครบระยะ 5 ปี ก่อนได้รับอนุญาตประทานบัตร ควรกำหนดรอบเวลาให้โครงการทำการทบทวน EIA/EHIA และปรับปรุงมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ที่เป็นปัจจุบัน
                      (2) หลังจากได้รับอนุญาตประทานบัตรแล้ว ควรกำหนดรอบเวลาให้โครงการทำการทบทวน EIA/EHIA และปรับปรุงมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทุก 5 ปี
                      (3) ในระยะยาวควรปรับปรุงกฎหมายให้มีกฎหมายเดียวบังคับใช้กับการทำเหมืองแร่ทุกชนิดและมีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะซึ่งจะส่งผลให้การขอประทานบัตรสัมพันธ์กับการจัดทำ EIA/EHIA

          (2) ระหว่างการทำเหมือง เห็นควรเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
               - กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
                 1) การทำเหมืองนอกเขตประทานบัตรทำผิดเงื่อนไขท้ายประทานบัตร ควรให้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงประเด็นนี้เป็นลายลักษณ์อักษรและกำหนดให้ชัดเจนว่ากรณีใดที่กระทำแล้วผิดกฎหมาย เนื่องจากหน่วยงานผู้รักษากฎหมายยังเข้าใจไม่ตรงกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในการบังคับใช้กฎหมาย
                 2) การรายงานผลประกอบการไม่ตรงตามความเป็นจริง ควรพิจารณาแก้ไขระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการแจ้งรายงานการทำเหมือง โดยกำหนดให้ผู้ถือประทานบัตรใช้การรังวัดแสดงพิกัดการทำเหมืองเพื่อรายงานปริมาณการผลิตแร่ ด้วยการใช้ระบบแสดงพิกัดการทำเหมืองโดยใช้ GPS (Global Positioning System) ควบคู่กับการใช้อากาศยานไร้คนขับ Drone
                 3) ขาดความชัดเจนในบทบัญญัติของกฎหมายของหน่วยงานที่รับผิดชอบและตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม และการปนเปื้อนทั้งภายในและโดยรอบเหมือง เห็นควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดย
                     (1) ให้อำนาจกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกรมควบคุมมลพิษ ในการเฝ้าระวังดูแล หรือตรวจสอบผลกระทบอันอาจเกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ประทานบัตร
                     (2) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป่าไม้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบพื้นที่ประทานบัตรหลังเหมืองเปิดดำเนินการ
               - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมควบคุมมลพิษ
                 ปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อ ชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรอบเหมือง
                 1) ให้กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 โดยให้อำนาจแก่กรมควบคุมมลพิษ ในการเฝ้าระวังดูแล หรือตรวจสอบผลกระทบอันอาจเกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ประทานบัตร
                 2) ให้มีการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน (Base Line Data) โดยรอบเหมืองเป็นฐานข้อมูลไว้ก่อนอนุญาตประทานบัตร
                 3) ให้มีการจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบเหมือง ทุก 6 เดือน

          (3) ช่วงหลังปิดเหมือง
               - กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่
                 1) ควรจัดให้มีป้ายประกาศ ณ บริเวณพื้นที่ทำเหมืองในพื้นที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ให้ประชาชนได้รับทราบว่าการทำเหมืองนั้น ทำในพื้นที่ของหน่วยงานใด เริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด และทำการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชนและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง สอดส่องดูแล มิให้มีการทำเหมืองแร่โดยผิดกฎหมาย
                 2) ควรกำหนดแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่เหมืองแร่หลังปิดเหมืองกลับมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่ชัดเจน

3) กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

         - กระทรวงการต่างประเทศ
             1) กรณีคำจำกัดความของคำว่า “นโยบายสาธารณะ” ยังไม่มีความชัดเจน เห็นควรทำการหารือร่วมกับนานาประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อผลักดันให้มีคำนิยามที่ชัดเจนว่า “การขัดต่อนโยบายสาธารณะ” มีความหมายครอบคลุมถึงกรณีที่นักลงทุนต่างประเทศมีการทุจริต หรือมีการดำเนินการใดที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอนามัยของประชาชน พร้อมทั้งเสนอให้มีการเพิ่มเติมคำนิยามดังกล่าวลงในภาคผนวกของอนุสัญญานิวยอร์ก
             2) กรณีในอนุสัญญาและข้อตกลงการลงทุนระหว่างประเทศ มิได้มีการบรรจุเรื่องของการทุจริต หรือปัญหาสุขภาพ อนามัย และสิ่งแวดล้อม ไว้เป็นเงื่อนไขของการที่จะให้บริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน ไม่มีสิทธิฟ้องร้อง เห็นควรเสนอให้บรรจุข้อความ นิยามของ “ประโยชน์สาธารณะ” ให้ชัดเจนครอบคลุมถึงกรณีที่มีการยุติสัญญาเมื่อเกิดปัญหาการทุจริตหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัย ไว้ในข้อตกลงการลงทุนระหว่างประเทศ ประเภทต่าง ๆ เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA

 

Related