Contrast
banner_default_3.jpg

ข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล

จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 440

23/09/2567

ข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 

ที่มาและความสำคัญ

ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษา หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พบว่าการจ่ายเงินสินบนและรางวัลเป็นเหตุให้เกิดปัญหาในหลายประการ ได้แก่ การเกิดพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำ (Moral Hazard) โดยมุ่งเน้นปฏิบัติงานเฉพาะงานที่มีเงินรางวัลหรือผลตอบแทนสูง ๆ หรือละเลยการปฏิบัติงานที่มีรางวัลหรือผลตอบแทนต่ำหรือไม่มีผลตอบแทน ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาการทุจริต ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมในระบบการทำงานของข้าราชการที่กลุ่มหนึ่งได้รับผลตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่สูงกว่าข้าราชการอื่น ทั้ง ๆ ที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลโดยมิชอบด้วยกฎหมายและการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติการณ์ในการสร้างพยานหลักฐานเท็จในการเบิกจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล ส่งผลกระทบทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และสูญเสียรายได้จำนวนมาก รวมทั้ง ทำให้ภาพลักษณ์ด้านการทุจริตคอร์รัปชันในเวทีนานาชาติตกต่ำด้วย การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และเป็นธรรม จะช่วยยกระดับการดำเนินงานของภาครัฐในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ การบังคับใช้กลไกทางกฎหมายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อันจะนำไปสู่การช่วยสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนนักลงทุนและนักธุรกิจต่างประเทศ และยกระดับค่าคะแนน CPI ให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขอเสนอข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัลต่อคณะรัฐมนตรี

ข้อเสนอแนะ

เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการดำเนินการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้

1) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันมิให้จ่ายเงินรางวัลให้แก่บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมการกระทำความผิดให้ได้รับเงินรางวัล และความเหมาะสมของอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัล

          (1) ให้กระทรวงการคลัง ศึกษาวิจัยความจำเป็นในการให้มีเงินรางวัลเพื่อตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และความเป็นไปได้ในการใช้ช่องทางตามระบบการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เหมาะสมกับลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่แทนระบบการจ่ายเงินรางวัลจากเงินค่าปรับที่ได้รับ เพื่อส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเสมอภาคในระบบราชการมากยิ่งขึ้น
             
           (2) ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการจ่ายเงินรางวัล ให้กระทรวงการคลังพิจารณาดังนี้

                 (2.1) ทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์การปฏิบัติงาน 
                         1. ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะให้จ่ายเงินรางวัลกรณีใดบ้าง เช่น กรณีที่เหตุอันเสี่ยงอันตราย หรือมีเหตุอันสมควรเท่านั้น
                         2. กำหนดขอบเขตบุคคลที่มีสิทธิ์รับส่วนแบ่งเงินรางวัล โดยเน้นที่การมีส่วนร่วมโดยตรงในการจับกุม เช่น เป็นผู้จับ ร่วมจับ สืบจับ ตรวจพบการกระทำความผิด ร่วมวางแผนหรือร่วมดำเนินการเป็นสำคัญ 

                 (2.2) พิจารณาปรับปรุงบัญชีอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัลให้เหมาะสม สะท้อนการมีส่วนร่วมและผลการปฏิบัติงานมากกว่าระดับตำแหน่ง เพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) และลดการใช้ดุลยพินิจโดยหัวหน้าส่วนราชการ โดยอาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัลที่เหมาะสม ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                 (2.3) เห็นควรให้มีการนำเงินที่ได้จากการจับกุมการกระทำความผิดของกรมศุลกากร นำส่งเข้าคลังโดยตรงก่อน เมื่อการพิจารณาคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว จึงจะทำการเบิกจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ได้รับต่อไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเบิกเงินรางวัล

                 (2.4) ให้มีการนำเงินได้จากเงินรางวัลนี้ ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย และอาจกำหนดอัตราการคำนวณภาษีเงินได้จากเงินรางวัลจากการจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร ในอัตราขั้นบันไดตามจำนวนเงินรางวัลที่ได้รับด้วยก็ได้ ทั้งนี้ หากต้องมีการแก้ไขกฎหมายใดเพื่อให้เกิดการนำเงินรางวัลมารวมคำนวณภาษี ก็ให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นด้วย


2) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบงานของกรมศุลกากร เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเงินสินบนและรางวัล และแก้ไขปัญหาการทุจริต

          (1) ให้กรมศุลกากรจัดทำ “ฐานข้อมูลกลาง”  เกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ และให้จัดทำข้อมูลเชื่อมโยงถึงที่มาที่ไปของรายการจับกุมการกระทำความผิด รายการทรัพย์สินที่นำไปสู่การจ่ายเงินสินบนและรางวัล เพื่อประโยชน์ในทางสถิติและการตรวจสอบทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนด้วย

           (2) ให้กรมศุลกากรจัดทำระบบ/ วิธีการลงบัญชีการจ่ายเงินสินบนและรางวัล โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินงาน และให้มีการรายงานการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงาน โดยให้ด่านศุลกากรเป็นหน่วยจัดทำรายงานการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ และรายงานผ่านสำนักงานศุลกากรภาค ที่มีหน้าที่ดูแลด่านศุลกากรพื้นที่ มายังกรมศุลกากรตามลำดับขั้นตอน และเปิดเผยผลการดำเนินการให้สาธารณชนได้รับทราบ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลการจ่ายเงินสินบนและรางวัลตาพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2560 เพื่อสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมศุลกากร และเป็นดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลและการบริหารราชการที่ดีของหน่วยงานภาครัฐด้วย

           (3) ให้กรมศุลกากร พัฒนาระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวังความผิดปกติในการดำเนินการจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร โดยเฉพาะในพฤติการณ์การจับกุมรูปแบบซ้ำเดิม และจัดให้มีระบบการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการปฏิบัติหน้าเกี่ยวกับการจับกุมการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร

Related