จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 194
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการติดตามข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู
ที่มาและความสำคัญ
ด้วยปรากฏกรณีปัญหาการซื้อขายประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ในปี พ.ศ. 2555 ประกอบกับปัญหาพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของครูที่ปฏิบัติต่อนักเรียน และครูในสถานศึกษาไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูในปี พ.ศ. 2563 ก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงด้านสังคม ในการบริหารจัดการการศึกษาและคุณภาพการศึกษาของประเทศ ประเด็นดังกล่าวมีมูลเหตุจากกรณีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เปิดทำการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) โดยมีพฤติกรรมการเปิดอบรมหลักสูตรนอกสถานที่ตั้งหลายแห่งและเป็นจำนวนมาก มีรายชื่อผู้ผ่านการอบรมเป็นจำนวนมากผิดปกติ ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ซึ่งสามารถนำไปยื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อขายประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ต่อคณะรัฐมนตรี ในปี 2555 ซึ่งคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 รับทราบข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อขายประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย
ต่อมาในช่วงเดือนกันยายน 2563 ปรากฏปัญหาพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของครูที่ปฏิบัติต่อนักเรียน และครูในสถานศึกษาไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูได้รับความสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวาง เนื่องจาก มีการเสนอข่าวจากสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้มีการติดตามผลการดำเนินการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ประกอบกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเรื่องดังกล่าว ซึ่งพบประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต เกี่ยวกับประกาศนียบัตรวิชาชีพครูทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่
ปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับใบประกอบวิชาชีพครู มีสาเหตุมาจากปัญหาสำคัญ เช่น การบริหารจัดการการตรวจสอบการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่ขาดความต่อเนื่อง การเข้าถึงข้อมูลในการตรวจสอบสถานะใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู รวมทั้งกลไกการบังคับใช้กฎหมาย การกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเชิงรุก ขาดความชัดเจน ปัญหาดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาประเทศในระยะยาว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการติดตามข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ต่อคณะรัฐมนตรี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเสนอข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการติดตามข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ต่อคณะรัฐมนตรี
ข้อเสนอแนะ
เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการติดตามข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู เพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้
1) ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการ
การขับเคลื่อนแนวนโยบาย การบังคับใช้กฎหมาย ตามกลไกการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เชิงรุกและการประเมินความพร้อมทางจิตใจของครู
1) ให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดหลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติในการขับเคลื่อนแนวนโยบาย การบังคับใช้กฎหมายตามกลไกการกำกับ ติดตาม และยกระดับการตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเชิงรุก
2) ให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ พิจารณากลไกการประเมินสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเชิงรุก โดยมีการชี้แจงแนวทางการดำเนินการอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
3) ให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น เครือข่ายภาคประชาชน สมาคมผู้ปกครอง ในการยกระดับการตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเชิงรุก เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการทางการศึกษาของประเทศ
2) ข้อเสนอแนะสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
(1) การบูรณาการฐานข้อมูลในการบริหารจัดการ เรื่อง การตรวจสอบการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของครูที่ทำหน้าที่สอนในโรงเรียนทั้งครูชาวไทย และครูชาวต่างประเทศ ตลอดจนการเข้าถึงข้อมูลในการตรวจสอบสถานะใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
1) เห็นควรให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บูรณาการข้อมูล เพื่อยกระดับระบบการตรวจสอบสถานะใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยจัดทำฐานข้อมูลให้รองรับการใช้งานข้อมูลจากฐานข้อมูลในรูปแบบ Web-based technology หรือ Mobile application ที่ผู้ใช้งานสามารถปฏิบัติงานและเรียกดูข้อมูลบน Web browser หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ ตลอดจนจัดทำระบบแจ้งเตือน การต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
2) เห็นควรให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา หารือร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดครู เพื่อจัดทำระบบ หรือฐานข้อมูลการกระทำความผิดของครูร่วมกัน เพื่อดําเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ หากมีคําวินิจฉัยชี้ขาดให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้วบันทึกลงในฐานข้อมูลพร้อมดําเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทําความผิดอย่างเคร่งครัด เพื่อติดตาม ตรวจสอบซึ่งจะยกระดับคุณภาพและมาตรฐานใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
(2) การยกระดับแนวทางการรับรองประกาศนียบัตรวิชาชีพครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูตามมาตรฐานวิชาชีพ
เห็นควรให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
1) กำหนดแนวทาง กลไกในการยกระดับคุณภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอื่น ๆ (รวมถึงครูพี่เลี้ยง) ตามมาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิต มาตรฐานบัณฑิต ตลอดจนจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 เพื่อพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ให้มีการส่งเสริมและพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครูอย่างเป็นรูปธรรม และมีกระบวนการติดตามและประเมินผลการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรต่อไป
2) กำหนดแนวทาง กลไกในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงสิทธิและคุณค่าของตนในสถานศึกษาตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ. 2532 โดยมีหลักการสำคัญเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน ได้แก่ สิทธิในการอยู่รอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาและสิทธิในการมีส่วนร่วม
(3) การขับเคลื่อนแนวนโยบาย การบังคับใช้กฎหมาย ตามกลไกการกำกับ ติดตามและยกระดับการตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเชิงรุกและการประเมินความพร้อมทางจิตใจของครู
1) ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พิจารณาแนวทางกำกับ ติดตาม และยกระดับการตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเชิงรุก โดยแนวทางกำกับ ติดตาม และตรวจสอบดังกล่าวให้รวมถึงการรับรองข้อมูลครู เช่น จำนวน ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (วันที่ได้รับ และวันครบกำหนด คะแนนจากการทดสอบและประเมินของแต่ละวิชา) เสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแผนการดำเนินการติดตามแนวทางดังกล่าว โดยประกอบด้วยข้อมูล ดังนี้ กรอบระยะเวลา วิธีการดำเนินการ ตัวชี้วัดการดำเนินการ ความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ในการติดตามและผลักดันข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับประกาศนียบัตรวิชาชีพครูต่อไป
2) ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิตเพื่อสร้างแบบประเมินความพร้อมทางจิตใจให้สอดคล้องตามคุณลักษณะ/สมรรถนะของครูที่ดีตามจรรยาบรรณวิชาชีพครูเพื่อใช้ประเมินความพร้อมของบุคคลที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพครูร่วมด้วย โดยให้พัฒนาชุดแบบประเมินความพร้อมทางจิตใจ และใช้ชุดแบบทดสอบดังกล่าวทดสอบความพร้อมทางจิตใจของครูเป็นระยะ เพื่อพัฒนาความพร้อมทางจิตใจของครูตามจรรยาบรรณวิชาชีพครู ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการสอนของครู การเรียนของนักเรียน/นักศึกษา และการบริหารจัดการทางการศึกษาของประเทศ
(4) มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาและมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการรายงานผลการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะฯ เสนอต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปีด้วย