จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 638
ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินงานร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง
ที่มาและความสำคัญ
ด้วยกรมราชทัณฑ์ได้ขอรับคำแนะนำหรือแนวทางป้องกันและปราบปรามการทุจริต จากสำนักงาน ป.ป.ช. ในการวางมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายของกิจการร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ รวมถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อพบการกระทำการทุจริต ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขอเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินงานร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ต่อกรมราชทัณฑ์
ข้อเสนอแนะ
เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินงานร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินงานร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ต่อกรมราชทัณฑ์เพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้
1) ด้านการจัดการสินค้า
(1) ควรมีการจัดทำแนวทางปฏิบัติหรือจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐของร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ตามกรอบกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เพื่อเป็นกรอบการปฏิบัติงานของร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง และให้ร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังปฏิบัติตามแนวทางหรือคู่มือดังกล่าวอย่างเคร่งครัด รวมถึงควรมีการอบรมพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความถูกต้อง
(2) ควรมีการนำระบบการชำระราคาค่าสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์มาปรับใช้แทนการชำระด้วยเงินสด เพื่อลดการให้เจ้าหน้าที่ถือเงินสด อันเป็นการลดความเสี่ยงในการกระทำการทุจริตของเจ้าหน้าที่ โดยวางระบบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง ทั้งนี้ กรณีหากมีความจำเป็นที่จะต้องรับชำระราคาค่าสินค้าด้วยเงินสด ควรกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บเงินสดและการตรวจสอบให้มีความชัดเจนและโปร่งใสมากที่สุด
2) ด้านคุณภาพและราคาสินค้า
ควรมีการตรวจสอบ กำกับดูแล หรือควบคุมคุณภาพและราคาสินค้าของร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันสินค้าขาดคุณภาพ และป้องกันการจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด
3) ด้านการจัดการบัญชี
(1) ควรมีการจัดทำแนวทางหรือคู่มือการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินและบัญชีร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง เผยแพร่ไปยังเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานกักขังทุกแห่ง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง รวมถึงมีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการฝึกปฏิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ทั้งในเรื่องระเบียบ กฎหมาย และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับงานบัญชี
(2) ควรมีการวางระบบการตรวจสอบบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง โดยมอบหมายให้มีเจ้าหน้าที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลการรับ-จ่ายเงินร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังในแต่ละวัน และให้ผู้บริหารของเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานกักขัง มีหน้าที่ในการกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการบัญชีเงินร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังในแต่ละวัน เพื่อลดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานและลดโอกาสเกิดการทุจริต
นอกจากนี้ ควรเพิ่มบทบาทและความเข้มแข็งในด้านต่าง ๆ ให้กับกลุ่มตรวจสอบภายในของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เพียงพอต่อการตรวจสอบการบริหาร การเงินการบัญชี และสอดคล้องกับจำนวนร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง และควรมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
4) ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
ควรมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบออนไลน์มาปรับใช้ในการบริหารจัดการร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังที่ครอบคลุมในทุกกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนสิ้นสุดกระบวนการ โดยระบบดังกล่าวสามารถส่งต่อข้อมูลไปยังผู้บริหารของเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานกักขัง ในแต่ละระดับชั้น เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลผลการดำเนินการของร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังในแต่ละวัน รวมถึงสามารถทราบข้อมูลในทันที และตลอดเวลา (Real Time) โดยใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกเรือนจำ เพื่อความโปร่งใสในการบริหารงานและสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย
5) ด้านระเบียบกฎหมาย
การดำเนินกิจการร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ควรคำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยอาจพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อันเป็นกฎหมายหลักในการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 34 วรรคแรก หรือการขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังให้กรมราชทัณฑ์สามารถเก็บเงินจากการดำเนินงานร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังในเรือนจำไว้ใช้จ่ายโดยไม่ต้องนำส่งคลัง และยกร่างระเบียบกรมราชทัณฑ์เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 34 วรรค 4 และวรรค 5
6) ด้านการส่งเสริมและการมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริต
(1) ควรจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ การแยกแยะระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ข้อห้ามและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เน้นย้ำในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต และบทลงโทษผู้กระทำความผิด
(2) ควรจัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดที่หลากหลาย รวมถึงประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะญาติผู้ต้องขัง และมีมาตรการปกปิดข้อมูลเพื่อไม่ให้ทราบถึงตัวผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งข้อมูล
(3) ควรมีการรวบรวมและจัดทำกรณีตัวอย่างพฤติการณ์การกระทำความผิดและการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการดำเนินงานร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง และเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่เกิดความตระหนักและระมัดระวังในการปฏิบัติงาน อันเป็นการป้องกันและป้องปรามไม่ให้เจ้าหน้าที่กระทำความผิด
(4) ควรประสานการดำเนินงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงยุติธรรม ในการหาแนวทางการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการดำเนินงานร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังในเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานกักขัง
7) ด้านแนวทางการปฏิบัติเมื่อพบการกระทำความผิด
กรณีที่กรมราชทัณฑ์พบการกระทำความผิดในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง และมีคําสั่งให้ดําเนินการสอบสวนทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ ให้กรมราชทัณฑ์มีหนังสือแจ้งการดำเนินการพร้อมแนบสำเนาคำสั่งให้ดําเนินการสอบสวนทางวินัยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคําสั่ง ในกรณีเช่นนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะสั่งให้กรมราชทัณฑ์รายงานความคืบหน้าและผลของการดําเนินการ หรือจะให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดําเนินการต่อไปก็ได้ อันเป็นไปตามมาตรา 136 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561