จากไชต์: สำนัก มาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
จำนวนผู้เข้าชม: 877
มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
ที่มาและความสำคัญ
ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการศึกษาการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เนื่องจากปัจจุบันมีการขยายตัวของเมืองในด้านการก่อสร้างอาคารมากขึ้น โดยเฉพาะในภาพรวมของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมืองใหญ่ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและเริ่มขยายตัวออกไปสู่เขตปริมณฑลไปจนถึงหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ทำให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้น รวมถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ส่งผลให้การก่อสร้างอาคารมีการทุจริตมากขึ้น เช่น การขอใบอนุญาตก่อสร้างที่พบการเรียกรับสินบน ส่งผลให้อาคารทรุด ตึกถล่ม ไฟไหม้อาคาร และเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องที่อาจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ ทำให้การเรียกรับสินบนกลายเป็นปัญหาที่บ่อนทำลายประเทศไทย การก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโครงการของบริษัทพัฒนาที่ดินต้องจัดสรรงบสินบนทำให้ราคาสินค้าแพงเกินจริง ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเขต องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และต้องจ่ายสินบนเพื่อให้โครงการเสร็จตามกำหนด จากปัญหาดังกล่าว ทำให้การขอออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารไม่ได้รับความสะดวกและเป็นธรรม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กระทำการทุจริตโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ทางราชการวางไว้เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องทำการกลั่นแกล้ง หน่วงเหนี่ยว เพื่อถ่วงเวลาในการออกใบอนุญาต ทำให้ฝ่ายผู้มาติดต่อขอออกใบอนุญาต เกิดความล่าช้า ส่งผลให้การเริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเกิดความล่าช้าไปด้วย ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อฝ่ายผู้มาติดต่อขอออกใบอนุญาตเป็นอย่างมาก
ปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารมักเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกรับสินบนเพื่อเร่งกระบวนการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายสินบนเหล่านี้ ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะสะท้อนออกมาในราคาขายอสังหาริมทรัพย์และค่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้านที่สูงเกินจริง ปัญหานี้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยสินบนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการก่อสร้างสามารถดำเนินต่อไปได้และเสร็จสิ้นตามกำหนด ฉะนั้นเพื่อให้กระบวนการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารของประเทศเป็นกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของประชาชนและผู้มาติดต่อขอออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขอเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ต่อคณะรัฐมนตรี
ข้อเสนอแนะ
เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังนี้
1) เห็นควรให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งรัดในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารออนไลน์ และการขอใบรับรองการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดแผนและระยะเวลาในการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยี การขออนุญาตก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารออนไลน์ให้ชัดเจน พร้อมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารออนไลน์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยให้สามารถเข้าถึงข้อมูล และพัฒนาระบบติดตามการขออนุญาตออนไลน์ เพื่อตรวจสอบถึงสถานะของการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารของหน่วยงานได้ เพื่อเป็นการลดช่องทางการติดต่อระหว่างผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตโดยตรง จะทำให้การดำเนินการอนุญาตเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้มาติดต่อ และลดการใช้ดุลพินิจ การทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ในการออกใบอนุญาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) กระทรวงมหาดไทยควรพัฒนาระบบ One Stop Service โดยการเชื่อมโยงการอนุมัติ อนุญาต ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ควรบูรณาการการทำงานร่วมกัน และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวมถึงควรมีการเปิดเผยข้อมูลทุกหน่วยงาน โดยการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต้องคำนึงถึงมาตรฐานของข้อมูล คุณภาพของข้อมูล ความสะดวกในการนำไปใช้ต่อของผู้ใช้งานข้อมูล และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐเปิดเผย ให้ประชาชนเข้าถึงได้ครบถ้วน ง่าย สะดวก ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีข้อจำกัด การมีข้อมูลที่ครบถ้วนที่ภาครัฐเปิดเผยจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้
3) ควรใช้กลไกการตรวจสอบโดยเอกชน (third party inspector) เข้ามามีบทบาทร่วมตรวจแบบแปลนและการก่อสร้างทั้งในขั้นตอนก่อนก่อสร้าง ขั้นตอนระหว่างก่อสร้าง และขั้นตอนหลังก่อสร้าง เช่นเดียวกับในต่างประเทศ โดยการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ทั้งในส่วนของพระราชบัญญัติและกฎกระทรวง รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่อำนาจในการพิจารณาออกใบอนุญาตยังคงเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเช่นเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการตรวจสอบความปลอดภัยอาคารมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายตรวจเอกชนให้รัดกุมเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายตรวจเอกชนเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ถูกต้อง และโปร่งใส ซึ่งจะทำให้การพิจารณารวดเร็วลดปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ได้ รวมถึงแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เพียงพออีกด้วย
4) ควรจัดให้มีคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และประชาชนที่ขอใบอนุญาตดังกล่าว โดยเป็นคู่มือเกี่ยวกับรายละเอียดการพิจารณาอาคาร หรือดัดแปลงอาคารแต่ละประเภท พร้อมทั้งจัดทำในรูปแบบอินโฟกราฟิกส์ (Infographics) รวมถึงการมีรายการตรวจสอบ (Checklist) ที่เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต และควรจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในกระบวนการอนุมัติ อนุญาต อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง ลดปัญหาการเกิดความเข้าใจผิดระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน
5) ควรจัดให้มีระบบการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตที่มีประสิทธิผลมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการ ตลอดจนสิทธิที่ได้รับในการแจ้งเบาะแสการทุจริต ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ. 2553
6) มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางการดำเนินการตามมาตรการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาและมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยรายงานผลการขับเคลื่อนมาตรการฯ เสนอต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปีด้วย